สับปะรดสีชมพู พืช GMO ห้ามนำเข้า ครอบครองผิดกฎหมาย จำคุก หนึ่งปี ปรับ 20,000 บาท 

“มนัญญา” ย้ำไทยแบนพืช GMO เตือนประชาชน “ไม่ซื้อ” – “ไม่ขาย” สับปะรดสีชมพู พบใครครอบครองเอาผิดตามกฎหมายทันที

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่า มีการพบสับปะรดเนื้อสีชมพู ซึ่งเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ(GMO)ว่า ได้ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มทุกพื้นที่ เพราะประเทศไทยมีนโยบายปลอดพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นฝากเตือนประชาชนว่าอย่านำเข้าพืชดังกล่าวหรือสนับสนุนในการซื้อขาย เพื่อรักษาชื่อเสียงของประเทศไทย

F42466B3 9B80 4346 A42F 8149E59472DC

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดได้มีการติดตามตรวจสอบต่อเนื่อง และจะยิ่งเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น  ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กันและกันเพราะลำพังภาครัฐบางครั้งจำกัดด้วยกำลังคน โดยเฉพาะยุคที่การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ที่มีการส่งสินค้ากันมาก ทำให้สุ่มเสี่ยงกับการส่งของผิดกกฎหมาย ดังนั้นฝากประชาชนว่าใครพบเห็นให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯทันที” 

ด้านนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่ากรมวิชาการเกษตรยืนยันว่าไทยไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าพืชจีเอ็มโอ ซึ่งกรณีสับปะรดสีชมพู(Pinkglow)ของบริษัท Del Monte ดังกล่าวปลูกในประเทศคอสตาริกา และเป็นพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าหรือจำหน่ายแต่อย่างใด  

BFD89C43 74DC 481B B62C E7625BFE67E3

นอกจากนี้ กรมยังได้เคยมีการติดต่อไปสื่อออนไลน์ที่โฆษณาจำหน่ายได้รับการแจ้งว่าไม่มีสินค้า และรายที่โฆษณาว่ามีหน่อพันธุ์จำหน่ายนั้น พบว่า เป็นสับปะรดประดับ ซึ่งไม่ใช่พืชจีเอ็มโอ อีกทั้งกรมได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเฝ้าระวังการนำเข้าและกรณีการโฆษณาขายผ่านสื่อโฆษณาหากพบกรมวิชาการเกษตรจะเข้าดำเนินการทันที

“ขอฝากเตือนผู้ลักลอบนำเข้าว่าหากพบ ท่านจะมีโทษตามกฎหมายตามพรบ.กักพืช พ.ศ.2507 ที่ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นกรณีกรมวิชาการเกษตรตรวจพบว่ามีการลักลอบซื้อ-ขาย หรือปลูกสามารถยึดอายัดและทำลายได้ทันทีผู้ซื้อ- ผู้ขาย เรียกร้องค่าเสียหายจากใครไม่ได้ดังนั้นมีแต่เสียด้านเดียว จึงขอวอนพี่น้องประชาชนว่าอย่าสนับสนุนพืชดังกล่าว ซึ่งกรมจะมีการจัดทำโปรเตอร์แสดงชนิดพืชสับปะรดสีชมพูเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยพี่น้องประชาชนได้ช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย“ นายระพีภัทร์ กล่าว

D1CAB220 CE9A 4EAC BA7D 6D193CBA2CFC

สำหรับพืชสับปะรด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสับปะรด Ananas Comosus(L)Merr. จัดเป็นสิ่งที่ต้องห้ามภายใต้ พรบ.กักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถนำเข้าได้เฉพาะจากแหล่งที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชเท่านั้น ปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์แหล่งเดียว หากนำเข้าจากแหล่งที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชจะถูกส่งกลับหรือทำลาย    และผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ