อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยัน กรมปศุสัตว์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อมวลชนว่า กลุ่มผู้ลักลอบนำเข้าจะสำแดงเท็จเป็นปลาและอาหารทะเล โดยจ่ายเงินแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร เพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบสินค้าในตู้
เผยขั้นตอนการยื่นขออนุญาตนำเข้าสินค้าที่สำแดงเป็นปลาและอาหารทะเล ไม่มีความจำเป็นต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ให้ตรวจสอบ แต่หากสำแดงเป็นสินค้าปศุสัตว์ จะตรวจสอบทุกตู้ ย้ำเข้มงวดป้องกันปราบปรามลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ คุ้มครองผู้บริโภค และปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวในสื่อมวลชนว่าขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนใช้วิธีสำแดงสินค้านำเข้าเป็นปลาและอาหารทะเล โดยจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร เพื่อแลกกับการไม่ถูกตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ โดยกรมปศุสัตว์ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบการนำเข้าหมูเถื่อนอย่างแน่นอน ตลอดจนไม่มีการเรียกรับเงินแลกกับการไม่ตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ผู้นำเข้าสินค้าสำแดงเท็จเป็นปลาและอาหารทะเลตามที่เป็นข่าวเนื่องจากตามขั้นตอนการนำเข้าสินค้าปลาและอาหารทะเลนั้น ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าของกรมปศุสัตว์จะไม่ได้รับแจ้งการขออนุญาตจึงไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบสินค้าแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ลักลอบนำเข้าจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ แต่หากมีการสำแดงสินค้านำเข้ากลุ่มปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าของกรมปศุสัตว์จะตรวจสอบทุกตู้
ในทางกลับกัน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ ปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และปกป้องผู้บริโภค โดยกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางติดตามตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ตามห้องเย็นทั่วประเทศ ทั้งยังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรติดตามตรวจสอบการลักลอบตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจับกุมและตรวจยึดเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่ลักลอบนำเข้าภายใต้อำนาจหน้าที่
ตามพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 และเมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 กรมปศุสัตว์ได้ประเมินความเสี่ยงของขบวนการลักลอบนำเข้าซากและชิ้นส่วนสุกรแล้ว จึงได้ยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามให้เข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยมีการสลับปรับเปลี่ยนหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ท่าเข้า ที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปราม
สำหรับผลงานการเข้าตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนที่ผ่านมานั้นได้เข้าตรวจสอบผู้ประกอบการ 510 ครั้ง สามารถยึดอายัดซากและชิ้นส่วนสุกรและฝังทำลายแล้ว รวมปริมาณ 1,031,536 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 173,024,174 บาท ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดพิธีฝังทำลายซากสุกรที่ตรวจสอบพบและดำเนินคดีกว่า 7 แสนกิโลกรัมหรือ 700 ตันซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566
จากการตรวจสอบและจับกุมอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าไม่สามารถนำซากสัตว์มาเก็บรักษาในห้องเย็นและส่งจำหน่ายได้สะดวก ส่งผลให้มีตู้สินค้าตกค้างในเขตอารักขาของด่านศุลกากรจำนวนมากจนกระทั่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการโครงการท่าเรือสีขาว ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเปิดตู้ตรวจสอบสินค้าตกค้าง ณ ด่านศุลกากรแหลมฉบัง โดยมีรายงานจากด่านศุลกากรแหลมฉบังว่าพบตู้สินค้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนตกค้าง 161 ตู้ ปริมาณซากหมูกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม
กรมปศุสัตว์ยังคงมุ่งมั่นร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมทั้งได้สั่งการและเน้นย้ำให้ เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศ ติดตาม ตรวจสอบและสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ในทุกช่องทาง ทั้งทางด่านท่าเรือ ทางด่านสนามบินระหว่างประเทศ และตามแนวชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน และจัดตั้งทีมสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์เพื่อตรวจสอบทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีการสุ่มตรวจสอบห้องเย็น สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการส่งเสริมให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง สามารถตรวจสอบย้อนได้ถึงแหล่งผลิตที่มาจากมาตรฐานฟาร์ม โรงเชือดที่ถูกกฎหมายและได้สุขอนามัย โดยสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการตรวจสอบรับรอง จะได้รับตราสัญลักษณ์“ปศุสัตว์ OK” ติดอยู่ที่สถานที่จำหน่าย ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้วกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ
นายสัตวแพทย์สมชวนย้ำว่า กรมปศุสัตว์ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่เชื้อโรคอาจติดมากับเนื้อหรือชิ้นส่วนสุกรที่ไม่ได้รับการตรวจสอบแหล่งผลิตและไม่อนุญาตให้นำเข้า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากโรคและสารตกค้าง รวมถึงปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าซากสัตว์มาแทรกแซงกลไกการตลาดในประเทศส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ตามหากประชาชนมีเบาะแสหรือพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายด้านปศุสัตว์ หรือพบเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา หรือผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษตามฐานความผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป