2 มิ.ย.65 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยความคืบหน้า โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า จากการเฝ้าระวังและคัดกรอง “โรคฝีดาษลิง” ในประเทศ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยและผู้ป่วยเข้าข่ายเพิ่มเติม ส่วนชาวต่างชาติ 3 ราย ที่ผลการตรวจพบว่าเป็นโรคเริม รักษาตัวและกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.65
โดยการเฝ้าระวังผู้ป่วย “โรคฝีดาษลิง” ที่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่กรมควบคุมโรคก็ประสานไปยังโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทางต่าง ๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคผิวหนัง ว่า หากพบผู้ป่วยที่เข้านิยามให้ส่งข้อมูลมาส่วนกลาง แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เข้านิยาม เช่น ไม่มีตุ่ม ไม่ออกผื่น อย่างไรก็ตาม “โรคฝีดาษลิง” ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ยังอยู่ในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เทียบได้กับโรคไข้เลือดออก
ส่วนการประเมินสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทยนั้น นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เริ่มต้นในเดือน พ.ค.จากเทศกาลไพรด์พาเหรด (pride festival) ประเทศสเปน ซึ่งสัปดาห์นี้ประเทศไทยเราก็จะมีงานไพรด์พาเหรด pride festivalขึ้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อในประเทศแล้ว ตอนนี้มี 5 จากเดิม 3 ประเทศ คือ แอฟริกา อังกฤษ โปรตุเกส สเปน และแคนาดา และจับตาเยอรมนีเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย เฉลี่ยวันละประมาณ 1 หมื่นคน
ส่วนกรณีที่ว่า ผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรดต้องเฝ้าระวังตนเองกี่วัน ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่อาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกตก็เป็นความเสี่ยง ฉะนั้นหากพบผู้ที่มีอาการผื่นก็ขอให้พามาตรวจที่ รพ. เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ซึ่งระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้น หากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์หลังจากมีความเสี่ยง อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่โรงพยาบาล
“คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย เนื่องจากสัปดาห์นี้ จะมีการเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ในไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน ก็อาจจะพบผู้ป่วยเข้ามาอย่างแน่นอน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ ย้ำถึงมาตรการที่ต้องเตรียมในการจัดงานไพรด์พาเหรด ว่า ขณะนี้ผู้ที่จัดงานยังไม่ได้ประสานข้อมูลมา แต่กระทรวงสาธารณสุข วางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย
แต่ขอย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ดังนั้น มาตรการ Universal Prevention หรือ UP ด้วยการเว้นระยะห่างกันจะดีที่สุด ซึ่งหากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกต ก็เป็นความเสี่ยง เพราะฉะนั้น หากพบผู้ที่มีอาการผื่น ก็ขอให้พามาตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ทั้งนี้ระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้น หากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังจากความเสี่ยงนั้น ๆ อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่โรงพยาบาล