“มะม่วงเขมร”มาแรง เข้าด่านโหย่วอี้กวานของกว่างซีได้เป็นครั้งแรก ท้าทาย มะม่วงไทย

“มะม่วง”  ถือเป็น 1 ในผลไม้ชูโรงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้กว่างซีเป็น ‘สวนผลไม้หลังบ้าน’ ของจีน นอกจากมะม่วงแล้ว มณฑลแห่งนี้ยังสามารถปลูกผลไม้เมืองร้อนได้อีกหลากหลายชนิดตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่ ลำไย ขนุน และชมพู่

เขตฯ กว่างซีจ้วง ถือเป็นแหล่งปลูก “มะม่วง” ที่สำคัญในจีน (นอกจากนี้ ยังมีมณฑลเสฉวน ยูนนาน ฝูเจี้ยน และไห่หนาน) แม้ว่าประเทศจีนจะสามารถปลูกมะม่วงได้แพร่หลายในพื้นที่ตอนใต้ แต่ผลผลิตยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้เต็มที่ และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

จากสถิติศุลกากรจีน พบว่า ปี 2565 การนำเข้ามะม่วงสดและแห้ง (พิกัดศุลกากร 08045020) ของประเทศจีน ‘พุ่ง’ สูงขึ้นชัดเจน คิดเป็นปริมาณรวม 82,312 ตัน เพิ่มขึ้น 469% จากปีก่อนหน้า (YoY) มูลค่าการนำเข้า 365 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 170% (YoY)

โดย “เขตฯ กว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้ามะม่วงมากที่สุดในประเทศจีน คิดเป็น 40.79% ในแง่ปริมาณ (33,578 ตัน) และคิดเป็น 35.58% ในแง่มูลค่าต่อทั้งประเทศ (RMB 129.9 ล้าน) โดยเป็นการนำเข้าจากเวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งไร้เงามะม่วงไทย (พอประเมินได้ว่า เนื่องจากปีที่แล้ว สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รถบรรทุกติดขัดบริเวณด่านโหย่วอี้กวานเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้นำเข้าไม่กล้าเสี่ยงนำเข้ามะม่วงไทย)

แม้ว่าตลอดช่วง 5 ปีมานี้ ‘มะม่วงไทย’ สามารถรักษารั้งเก้าอี้ Top 3 ของมะม่วงนำเข้าในประเทศจีน แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดมีความผันผวนค่อนข้างสูง บางปีสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ขณะที่บางปี ส่วนแบ่งทางการตลาดกลับตกฮวบ

%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%A3
มะม่วงเขมร

ขณะที่ ‘มะม่วงเขมร’ มีแนวโน้มมาแรงจนเป็นที่น่าจับตา หลังจากที่รัฐบาลจีนอนุญาตการนำเข้ามะม่วงจากกัมพูชาได้เมื่อปี 2563 พบว่า มะม่วงเขมรสามารถทำตลาดในจีนได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ข้อมูลปี 2565 พบว่า กัมพูชาเป็นแหล่งนำเข้ามะม่วงอันดับ 2 ของประเทศจีน (รองจากเวียดนาม) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 34.51% ในแง่ปริมาณ และ 16.73% ในแง่มูลค่า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าทางเรือของเขตฯ กว่างซีจ้วง (ปริมาณ 50.89% ของทั้งจีน) และมณฑลเจ้อเจียง (ปริมาณ 41.16% ของทั้งจีน)

ล่าสุด เมื่อ 19 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ด่านโหย่วอี้กวานเปิดเผยว่า มะม่วงสด 23.2 ตัน ที่ส่งออกจากประเทศกัมพูชาผ่านเข้าด่านโหย่วอี้กวานเป็นที่เรียบร้อย นับเป็น ‘มะม่วงเขมร’ ล็อตแรกที่ส่งออกผ่านด่านทางบกของเขตฯ กว่างซีจ้วง

ตามรายงาน เนื่องจากสินค้าเป็นมะม่วงสด ซึ่งเน่าเสียและบอบช้ำง่าย ในการนี้ เจ้าหน้าที่ด่านได้อำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรให้กับ ‘มะม่วงเขมร’ ที่มาถึงด่านโหย่วอี้กวาน และได้นำโมเดลการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบรถเข้า-ออกนอกประเทศแบบรวดเร็วมาใช้กับด่านทางบกเป็นที่แรกในจีน ช่วยร่นเวลาการตรวจสอบรถสินค้าที่จะวิ่งเข้าด่านโหย่วอี้กวานเหลือเพียงไม่เกิน 15 วินาที

ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ด่านโหย่วอี้กวานมีปริมาณการนำเข้าผลไม้จากอาเซียน 1.72 แสนตัน เพิ่มขึ้น 82.1% (YoY) คิดเป็นมูลค่า 4,990 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 465.9% คิดเป็นสัดส่วน 89.1% ของด่านทั้งหมดในกว่างซี และมีรถเข้า-ออกเฉลี่ยในแต่ละวัน 1,400 คันครั้ง

%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A5%E0%B8%B2 2
มะม่วงไทย

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า “มะม่วง” เป็นอีกหนึ่งผลไม้ศักยภาพของประเทศไทย เพราะเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภค ทั้งการรับประทานผลสด มะม่วงแปรรูป หรือแม้กระทั่งการนำไปปรุงอาหารคาว โดยชาวจีนส่วนใหญ่รู้จักมะม่วงไทยผ่านเมนูข้าวเหนียวมะม่วง และน้ำมะม่วงไทยปั่น (ร้านเครื่องดื่มในจีนมักใช้มะม่วงชาติอื่นสวมชี่อมะม่วงไทย)

ดังนั้น ทุกฝ่ายสามารถบูรณการความร่วมมือในการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อส่งเสริมการบริโภคมะม่วงไทยในตลาดจีน โดยผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบจากที่ตั้งของไทยที่อยู่ไม่ไกลจากกว่างซี ส่งออกมะม่วงด้วยรถบรรทุกผ่านถนน R9 และ R12 เข้าที่ด่านโหย่วอี้กวานและด่านตงซิง หรือจะใช้รถบรรทุกต่อรถไฟที่สถานีด่งดังของเวียดนามเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียง และการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือชินโจวและท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเช่นกัน

ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง