กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ โดยส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นและไม้มีค่าในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ เป็นการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างเงินออมเป็นหลักทรัพย์หลักประกันในอนาคตให้ลูกหลาน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานในพื้นที่ไม่เหมาะสม และการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นและไม้มีค่าในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคการเกษตรที่สมดุลและยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
นายเข้มแข็ง กล่าวต่อไปว่า ในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินงานโครงการต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการในสังกัด จำนวน 14 แห่ง ร่วมกันผลิตพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ไผ่ สะเดา มะขามเปรี้ยว มะม่วง พันธุ์ไม้ผล ได้แก่ อะโวกาโด กล้วย และพันธุ์พืชผักสมุนไพร เพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรทำการเกษตรผสมผสานตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยได้ประสานความร่วมมือการสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้มีค่าจากกรมป่าไม้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เน้นเป้าหมายเกษตรกรที่ร่วมปลูกพืชจากโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรไม่เหมาะสม (Zoning) เกษตรกรต้นแบบโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และสมาชิก รวมจำนวนทั้งสิ้น 27,537 ราย ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกระดับและได้เชิญเกษตรกรต้นแบบ ศพก. จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนาและผ่านระบบประชุมออนไลน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปลูก การตัด การขาย การขนย้าย และแปรรูป ซึ่งปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ กำหนดให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม ทำให้ไม้มีค่าสามารถปลูกและตัดได้เหมือนพืชเศรษฐกิจทั่วไป
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินที่ดินของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนแก่เกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ ซึ่งในอนาคต เกษตรกรยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตจากต้นไม้ที่ปลูก สร้างรายได้เพิ่มขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้สร้างความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมป่าไม้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นและเข้าใจถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นและไม้มีค่า และร่วมกันขยายผลการปลูกไม้ยืนต้นและไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ต่างๆ ทั้งในรูปแบบเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และวนเกษตร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศมีการรวมกลุ่มและขยายผลธนาคารต้นไม้ และส่งเสริมเครือข่ายวนเกษตรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ให้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายผลให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป
สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2566 ได้กำหนดแผนส่งมอบพันธุ์ไม้มีค่า ไม้ผล ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ และพืชผักอาหาร โดยประสานงานขอรับพันธุ์กล้าไม้มีค่าจากหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ เพื่อมอบให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้นำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง ทั้งนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ในเรื่องการปลูก การดูแลต้นไม้ผ่านทางสื่อถ่ายทอดความรู้ในช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งมีการติดตามสรุปผลการดำเนินงานเพื่อวางแผนขยายผลในระยะต่อไป ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสร้างอาชีพเกษตรกรรมให้มั่นคง และสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศได้อย่างยั่งยืน