รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ดำเนินนโยบาย “โครงการประกันรายได้” ที่ขับเคลื่อนโดย “กระทรวงพาณิชย์” จำนวน 4 สินค้า ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโดย “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” จำนวน 1 สินค้า คือ ยางพารา รวมแล้ว 4 ปี
ผล “การดำเนินโครงการ” ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2563-66 ปรากฏว่า มีการ “จ่ายเงินส่วนต่าง” ให้กับเกษตรกรกว่า 218,158 ล้านบาท “น้อยกว่า” งบประมาณที่ตั้งไว้ 298,679 ล้านบาท
สามารถดูแล “เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่” ได้รวม 8.13 ล้านครัวเรือน
แยกเป็น “โครงการประกันรายได้ข้าว” จ่ายส่วนต่าง 161,631 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 179,553 ล้านบาท
“มันสำปะหลัง” ใช้งบ 12,689 ล้านบาท น้อยกว่างบที่ตั้งไว้ 29,890 ล้านบาท
“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ใช้งบ 2,287 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 6,083 ล้านบาท
“ปาล์มน้ำมัน” ใช้งบ 7,221 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 28,773 ล้านบาท
ส่วน “ยางพารา” ขณะนี้โครงการปีสุดท้ายยังไม่สิ้นสุด แต่ล่าสุดถึงวันที่ 24 พ.ค.2566 ใช้งบรวมแล้ว 34,328 ล้านบาท
“ภาพรวมโครงการ” ถือว่า “ประสบความสำเร็จ” และใช้งบประมาณ “ต่ำกว่า” ที่ตั้งไว้มาก
โดยดูตาม “ไทม์ไลน์” ตั้งแต่ปีแรก มีการ “จ่ายส่วนต่าง” ให้สินค้าเกษตรครบทั้ง 5 ชนิด เพราะช่วงนั้น ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ
พอปีที่ 2-4 ราคาสินค้าเกษตร “ดีขึ้น” ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ “มาตรการเสริม” เข้าไปดูแล และ “การหาตลาด” รองรับผลผลิตล่วงหน้า ทำให้จ่ายเงินส่วนต่างลดลง
เริ่มจาก “ปาล์มน้ำมัน” ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน จนไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง แม้แต่ “บาทเดียว” ติดกันถึง 3 ปี และราคาปัจจุบันเฉลี่ย 5-5.50 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงกว่าประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก.
“มันสำปะหลัง” และ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” จ่ายส่วนต่างเพียง 2 ปีแรก หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายส่วนต่างเลย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน โดยมันสำปะหลังราคาปัจจุบันเฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 12 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก.
ส่วน “ข้าวเปลือก” ปีล่าสุด ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว
“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” สรุปว่า โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ทั้งข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ที่รัฐบาลนี้ดำเนินการมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา “ประสบความสำเร็จ” ด้วยดี เพราะช่วยให้เกษตรกรมี “รายได้” เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ และ “ไม่มีการทุจริต” เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงิน “ชดเชยส่วนต่าง” ให้กับเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โอน “เข้าบัญชี” เกษตรกรโดยตรง และ “ไม่มีการรั่วไหล”
ทั้งนี้ จากการสำรวจ ยังพบว่า ช่วง 4 ปีที่ทำโครงการนี้ เกษตรกรพึงพอใจ หากต่อไป “ไม่มี” โครงการประกันรายได้ และสินค้าเกษตรยังอยู่ “ในช่วงราคาดี” ก็จะ “ไม่มีปัญหาอะไร” เพราะเกษตรกรยังขายผลผลิตได้ราคาสูง แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเมื่อไร “มีปัญหา” แน่ เพราะ “รายได้” ของเกษตรกรจะลดลง และไม่มีการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้เกษตรกรอีกต่อไป ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทางเดียวจากการขายสินค้า
ส่วน “รัฐบาลชุดใหม่” จะมีนโยบายดูแลสินค้าเกษตรหลักยังไง นายจุรินทร์ บอกว่า โครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ผูกพันกับรัฐบาลต่อไป ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะทำนโยบายต่อหรือไม่ แต่ก็คาดหวังว่า จะมี “มาตรการ” และ “โครงการ” ดูแลเกษตรกรที่ดีออกมา
แต่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า “ไม่อยากเห็น” การดำเนินโครงการรับจำนำอีกต่อไป เพราะการ “รับจำนำ” สินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ต้อง “เช่าโกดัง” เพื่อเก็บรักษาไม่ให้เสื่อมสภาพ ต้อง “เปิดประมูล” ขาย ถ้าทำไม่ดี จะมี “ปัญหามาก”
เหมือนการรับจำนำที่ผ่านมา ประเทศ “เสียหายมาก” ถึง 8-9 แสนล้านบาท ทุกวันนี้ยัง “ชดใช้ไม่หมด” ยังต้องลงนามในหนังสือให้ “ชดใช้ความเสียหาย” อยู่จนถึงขณะนี้
“โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ใกล้จะปิดฉากไปพร้อม ๆ กับรัฐบาลชุดนี้
โดย “ประกันรายได้ข้าว” จบโครงการไปแล้ว เมื่อเดือนพ.ค.2566 ที่ผ่านมา “ประกันรายได้ปาล์ม มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” แม้จะอยู่ในช่วงดำเนินโครงการ แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะต้องจ่ายส่วนต่างจนจบโครงการ และ “ประกันรายได้ยางพารา” ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจ่ายเงินส่วนต่าง ที่กำหนดไว้ 2 งวด
นับจากตอนนี้ เหลือเวลาอีก “ไม่นาน” ที่โครงการประกันรายได้ทั้ง 5 โครงการ จะทยอยจบลง
ต่อไป จะมี “โครงการ” อะไรมาดูแลเกษตรกร ก็ต้อง “มาลุ้น” ไปพร้อม ๆ กัน
จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่ “อย่าทำ อย่าใช้” โครงการที่ “เปิดช่อง” ให้มีการทุจริตเลย
ประเทศ “เสียหาย” มามากพอแล้ว
ที่มา -กระทรวงพาณิชย์