เกิดกระแสความสนใจจากคนไทยเพียงข้ามคืน เมื่อว่าที่นายกฯ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ” พูดถึง “สุราก้าวหน้า”ผ่านรายการ “กรรมกรข่าวคุยนอกจอ” และเอ่ยชื่อถึงสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน หลายยี่ห้อด้วยกัน ทั้ง “สังเวียน” สุราพื้นบ้านกลั่นจากอ้อยจากสุพรรณบุรี, คีโร่ จากกระบี่,ฉลองเบย์ จากภูเก็ต,ไอรอนบอลจาก เอกมัย กทม.,หมาใจดำและดาวลอย จากเชียงใหม่ จนทำให้คนแห่สั่งซื้อ หลายยี่ห้อสินค้าหมดโรงงานผลิตไม่ทัน
เรื่อง “สุราก้าวหน้า” เป็นนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกลและจะรีบดำเนินการหากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลได้เดินหน้าพยายามผลักดันมาแล้วแต่ยังไม่สำเร็จโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติคว่ำร่างพระราชบัญญัตติ(พ.ร.บ.)ภาษีสรรพสามิต(ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ฉบับพรรคก้าวไกล ในวาระ 3 แต่พรรคก้าวไกลก็ยังประกาศผลักดัน “สุราก้าวหน้า” ต่อไป และเป็นนโยบายสำคัญในการสู้ศึกเลือกตั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้พรรคก้าวไกล ได้ชี้ให้เห็นถึงผลได้ที่ตามมาจากนโยบายสุราก้าวหน้า ปลดล็อกการผูกขาดสุราและเบียร์
1. การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร
ประการแรก การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จากสินค้าเกษตรที่มีราคาไม่แพง เช่น ปลายข้าว กิโลกรัมละ 12 บาท เมื่อแปรรูปเป็นสุราพื้นบ้านและสุราคราฟท์แล้วจะมีมูลค่ามากกว่า 150-2,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุราที่แปรรูป
นอกจากข้าวแล้ว การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ ยังสามารถนำมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด อ้อย มัน มะพร้าว ตาล ต้นจาก และยังนำสมุนไพรของไทยอีกหลายชนิดมาร่วมเป็นวัตถุดิบเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “พิธา” บอกในรายการว่า เป็นการเปลี่ยน “โภคภัณฑ์” ที่มีราคาถูก ให้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่มีราคาแพงขึ้นได้
เพราะฉะนั้น หากยกเลิกการผูกขาดสุราและเบียร์ได้สำเร็จ และเปิดตลาดให้สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ได้มีส่วนแบ่งการตลาดสัก 10% ศักยภาพของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลการเกษตรจากการแปรรูปสุราคราฟท์จะมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี
2. การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ประการที่สอง การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย (เงินลงทุนประมาณ 1-2 ล้านบาท) กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ตามแหล่งผลิตพืชผลการเกษตร และชุมชนต่างๆ รวมถึงเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมากด้วย เกิดเป็นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี
3. การเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวของแต่ละท้องถิ่น
ประการที่สาม นอกจากจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตร และการจ้างงานโดยตรงแล้ว สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างบรรยากาศของการท่องเที่ยว ในแต่ละท้องถิ่นด้วย ทั้งในแง่ของภูมิปัญญาและเรื่องราวที่น่าสนใจ ของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ และการสังสรรค์และนันทนาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เช่น การแคมปิ้ง เทศกาลอาหารเครื่องดื่ม เทศกาลดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
4. การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา
ประการที่สี่ เมื่อมีการยกเลิกการผูกขาดการผลิตสุราและเบียร์แล้ว จะทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา และองค์ความรู้เพื่อการแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การวิจัยกระบวนการหมัก การปรับปรุงคุณภาพข้าว (เช่น การขัดสีเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีสัดส่วนแป้งสูงมาก) และพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพรอื่น ๆ ไปจนถึงการตลาด
ทั้งนี้ หนึ่งในศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาคือ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพของสุราและเบียร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่จะต้องสามารถรักษาและเพิ่มระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย
5. การลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกของสุราและเบียร์
ประการที่ห้า การยกเลิกการผูกขาดการผลิตสุราและเบียร์ ยังช่วยลดการนำเข้าสุราและเบียร์จากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าการนำเข้าปีละกว่า 7,000 ล้านบาท ลงได้ด้วย เพราะเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคในประเทศ แทนการบริโภคแต่สุราและเบียร์ยี่ห้อเดิมๆ
นอกจากนี้ การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่มอาเซียนและเอเชียตะวันออกด้วย
ทั้งนี้ หากการแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ สามารถลดการนำเข้าสุราและเบียร์จากต่างประเทศได้ 20% และช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสุราและได้เพิ่มขึ้น 20% ก็จะช่วยเพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทยได้เกือบ 3,000 ล้านบาทในแต่ละปี
6. การเพิ่มทางเลือกในการเก็บรักษาและสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร
ประการที่หก การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ในช่วงเวลาที่ผลผลิตเกินความต้องการของตลาด และเน่าเสียง่าย โดยการจัดเก็บและการถนอมอาหารนั้น สามารถทำได้ทั้งการแปรรูปเป็นสุราโดยตรง (เช่น สุราจากข้าว หรือข้าวโพด) หรือการใช้สุราเป็นเทคนิคในการถนอมอาหาร เช่น การใช้สุราในการดองเหล้าบ๊วย เหล้าลูกหว้า หรือเหล้าลำไย เป็นต้น
ดังนั้น การแปรรูปสุราพื้นบ้านจึงเป็นการเพิ่มตัวเลือกและขีดความสามารถในการจัดการตลาดให้กับเกษตรกร และชุมชน รวมถึงยังเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดให้กับเกษตรกรและชุมชนด้วย
7. การใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ในการผลิตสุราและเบียร์
ประการสุดท้าย กากที่เหลือจากกระบวนการหมักสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากพอที่จะสามารถนำมาพัฒนาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และ/หรือ การทำก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือนหรือในการแปรรูป ได้อีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับ สุราพื้นบ้าน มีด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่
1.สาโทหรือน้ำขาว
2.อุหรือเหล้าไห
3.กะแช่หรือ น้ำตาลเมา
4.สุราหรือเหล้ากลั่น
โดยแต่ละชนิดจะมีกรรมวิธีผลิตและวัตถุดิบที่แตกต่างกัน
สาโท หรือน้ำขาว ผลิตจากข้าวเหนียวนึ่ง คลุกกับลูกแป้ง หมักในภาชนะจนเกิดเป็นน้ำสุรา
ขณะที่ อุ ทำจากข้าวเหนียวเช่นกัน แต่มีส่วนผสมของแกลบด้วย หมักในไห ปิดสนิท เวลาดื่มต้องดูดจากไหด้วยหลอด
กะแช่ หรือน้ำตาลเมา จะผลิตจากน้ำตาล จากจั่นมะพร้าวหรือต้นตาลโตนด นำมาใส่ไม้มะเกลือ เพื่อให้เกิดการหมักจนเกิดแอลกอฮอล์
ส่วน สุราหรือเหล้ากลั่น คือ สุราที่ได้กลั่นแล้วและให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้วแต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรี
สำหรับสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน สุราท้องถิ่นจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย มีหลายยี่ห้อด้วยกัน เท่าที่รวบรวมมาได้มีดังนี้
สังเวียน-สุพรรณบุรี
คีโร่-กระบี่
ฉลองเบย์-ภูเก็ต
ไอรอนบอล-เอกมัย กทม.
หมาใจดำ-เชียงใหม่
ดาวลอย -เชียงใหม่
กิ่วลม-ลำปาง
กระซิบ-น่าน
ฉาน-แพร่
ม้าแก้วมังกร-อุตรดิตถ์
ป๊าดโธ-ร้อยเอ็ด
ออนซอน-สกลนคร
ซอดแจ้ง-อุบลราชธานี
สปิริต ออฟ ชัยภูมิ-ชัยภูมิ
ควอนตัม-จันทบุรี
ตาคิยะ-สงขลา
นาสาร-สุราษฎร์ธานี
สดง ASSA DONG – อ.เวียงสา น่าน
Hopster-TH อ.เชียงแสน เชียงราย
Kirikhan Spirits – คีรีขาล อ.จุน พะเยา
OZZO-อ๊ดโซ๊ะ อ.ป่าซาง .ลำพูน
และ Saneha Society -อ.เมือง ภูเก็ต