รับเปิดเทอมใหญ่ อ.ส.ค. สั่งควบคุมคุณภาพการผลิต “นมโรงเรียน” ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ พร้อมตั้งทีมตลาดตรวจสอบ ติดตามการขนส่งนมจากต้นทาง-ปลายทางอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดปัญหานมเน่าบูด ชี้เด็กไทยต้องได้ดื่มนมคุณภาพ-ปลอดภัย
นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่าภายหลัง อ.ส.ค. ได้สมัครเข้าร่วมโครงการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในปีการศึกษา2566 ว่า อ.ส.ค. ได้รับการพิจารณาโควต้าหรือการจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนจากกรมปศุสัตว์จำนวน 48 ตัน/วัน ได้รับสิทธิ์จำหน่ายทั่วประเทศ 321,515 หน่วย/วัน ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ 70 เปอร์เซ็นต์และนมยูเอชที 30 เปอร์เซ็นต์ โดยนมพาสเจอร์ไรส์จำหน่ายในราคา 6.89 บาท/ถุง ส่วนนมนม ยูเอชที ราคา 8.13 บาท/กล่อง มีระยะเวลาดำเนินการในภาคการศึกษานี้รวม 260 วัน แบ่งเป็นช่วงเปิดเทอม 200 วัน และช่วงปิดเทอมอีก 60 วัน
โดยหลังจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (5 กลุ่ม) ดำเนินการจัดสรรสิทธ์และพื้นที่การจำหน่าย ประจำปีการศึกษา 2566 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา อ.ส.ค. ก็ได้เร่งดำเนินจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมตามบัญชีรายชื่อหลังจากจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายไม่เกิน ๗ วันหลังจากประกาศผลการจัดสรรสิทธิ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมติดต่อทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือกับหน่วยจัดซื้อในนาม อ.ส.ค. ตามที่ได้รับ การจัดสรรในแต่ละพื้นที่ และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องจำหน่ายนมโรงเรียนกับหน่วยจัดซื้อตามหนังสือที่ได้รับมอบอำนาจเท่านั้น โดยต้องทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือให้แล้วเสร็จก่อนวันเปิดเรียนปีการศึกษา 2566 ในส่วนของหน่วยจัดซื้อให้ใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 ยกเว้นหน่วยจัดซื้อซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ให้ดำเนินการ ตามที่ส่วนราชการผู้กำกับดูแลกำหนด
นายสมพร กล่าวย้ำด้วยว่า อ.ส.ค. ได้ให้ความสำคัญกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนอย่างมาก เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและมีความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของเยาวชนไทย โดยสั่งการให้สำนักงาน อ.ส.ค.ทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศเข้มงวดให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ประจำปี 2566 กวดขันในกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทาง ตั้งแต่โรงงานการผลิต มาตรฐานการขนส่งจนถึงโรงเรียน โดยในระบบการผลิตได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงโคนมต้องได้มาตรฐานระดับ GAP เพื่อส่งเสริมสุขภาพโคนมให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อผลิตน้ำนมให้ได้คุณภาพดี ส่วนโรงงานผลิตนมของ อ.ส.ค. ทุกโรงงานได้มาตรฐานตาม GMP ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และระบบการขนส่งนมได้คุณภาพมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วยจึงมั่นใจได้ว่านมโรงเรียนทุกกล่อง ทุกถุงที่ผลิตโดย อ.ส.ค. เป็นนมที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยไม่มีบูดเน่าอย่างแน่นอน
“นมโรงเรียนของอ.ส.ค.ทุกกล่องทุกถุงเป็นนมที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100% จากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ผ่านเกณฑ์และวิธีการผลิตที่ดี (GMP) ที่รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขและฟาร์มโคนมที่ผ่านเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (GAP) ที่รับรองจากกรมปศุสัตว์ตามข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมโค (MOU) จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด “
นายสมพร กล่าวตอนท้ายว่า นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์/การขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้นมเกิดการเน่าบูดระหว่างทาง โดย อ.ส.ค. ได้จัดตั้งทีมการตลาดในการติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรถห้องเย็นที่เป็นเอกชนมารับจ้างขนส่งนมให้ อ.ส.ค. ไปยังโรงเรียนอย่างเข้มงวดเพื่อให้การเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนของ อ.ส.ค. มีประสิทธิภาพมากที่สุด