นางสาวอุษา โทณผลิน ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเลย แหล่งผลิตอันดับ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากจังหวัดนครราชสีมา
โดยปี 2566/67 (ข้อมูลพยากรณ์จาก สศก. ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง) รวม 364,796 ไร่ เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 363,120 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,676 ไร่ หรือร้อยละ 0.5) เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจ ให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตรวม 245,176 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 242,426 ตัน (เพิ่มขึ้น 2,750 ตัน หรือร้อยละ 1.1) ผลผลิตต่อไร่ 673 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 669 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 4 กิโลกรัม หรือร้อยละ 0.6) เนื่องจากเกษตรกรดูแลรักษาดี ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งเกษตรกรมีความชำนาญในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2566) จำนวน 15,570 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แบ่งการเพาะปลูกเป็น 2 รุ่น คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 เริ่มปลูกเดือนมีนาคม ถึง เดือนตุลาคม 2566 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ถึง กุมภาพันธ์ 2567 และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 เริ่มปลูกเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม 2567
ราคาขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2566 ของจังหวัดเลยในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด (ราคา ณ สิงหาคม 2565 – พฤษภาคม 2566) ความชื้น 14.5% เฉลี่ยอยู่ที่ 9.51 บาท/กิโลกรัม ราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเล็กน้อย (ปีที่ผ่านมาราคา 8.75 บาท/กิโลกรัม) ด้านสถานการณ์ตลาด เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วขายให้พ่อค้าท้องถิ่นรวบรวมผลผลิตทั้งหมด เพื่อส่งขายให้กับผู้ประกอบการแปรรูปอาหารสัตว์ ในต่างพื้นที่ เช่น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน สาขาโคกตูม และสาขาขอนแก่น บริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด บริษัท ก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จำกัด และมิตรชาวไร่ เป็นต้น
“สำหรับปี 2566/67 ขณะนี้ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลย ร้อยละ 19.17 เริ่มเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ช่วงต้นฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 โดยเกษตรกรจะเพาะปลูกมากที่สุดในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2566 ถึงร้อยละ 74.06 และเพาะปลูกเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม 2566 ร้อยละ 6.77 สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 เกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ถึงมกราคม 2567 โดยผลผลิตออกมากที่สุดช่วงเดือนตุลาคมถึง พฤศจิกายน 2566 ถึงร้อยละ 69.75” ผอ.สศท.3 กล่าว
ทั้งนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเนื่องจากตลาดมีความต้องการต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อีกทั้งภาครัฐได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหน้าฝน (ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร) ซึ่งช่วงฤดูฝนสภาพอากาศร้อนและมีความชื้นสูงเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคพืชมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจติดมากับเมล็ด เศษซากพืชที่อาศัยอยู่ในดินเป็นเวลานาน สปอร์เชื้อราที่ปลิวตามลมหรือฝน อีกทั้งหากบริเวณรากหรือลำต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถูกแมลงทำลายเกิดบาดแผลทำให้เชื้อโรคเข้ามาทำลายได้ง่ายขึ้น โดยโรคข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่พบในหน้าฝน อาทิ โรคใบไหม้แผลเล็ก โรคเมล็ด-ฝัก-ตันและรากเน่าจากเชื้อรา โรคกาบและใบไหม้ และโรคราน้ำค้าง ดังนั้น เกษตรกรจึงควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหน้าฝน โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย ที่ทำลายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่งอกจนถึงอายุประมาณ 1 เดือน ทำให้ต้นแคระแกรน ใบเป็นทางยาวสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อนไปตามความยาวของใบ ช่อดอก หรือยอดอาจแตกเป็นพุ่ม ติดเมล็ดน้อยหรือไม่ติดเลย การป้องกันกำจัดใช้พันธุ์ต้านทาน ถ้าพบต้นเป็นโรคให้ถอนและเผาทำลายทันที
หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.3 โทร. 0 4229 2557 อีเมล [email protected] หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย โทร. 0 4281 1643