ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจาก‘เปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่’ ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง สู่ ‘ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองสามน้ำ’

จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเมืองที่มีลักษณะโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ในฐานะ ‘เมืองสามน้ำ’ คือมีทั้งระบบนิเวศน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ในพื้นที่เดียวกัน กลายเป็นความสมบูรณ์ที่เอื้อต่อการทำประมงและการเกษตร ยิ่งเฉพาะ ‘มะพร้าว’ ถือว่าเป็นแหล่งปลูกขนาดใหญ่ และขึ้นชื่อว่ามีรสชาติหวานหอมเป็นอัตลักษณ์ หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสมุทรสงคราม ทว่าในช่วงภาวะผลผลิตราคาตกต่ำ เกษตรกรผู้ปลูกต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุนอยู่ไม่น้อย

%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B5
ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจาก‘เปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่’

วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ต.บางยี่รงค์ อ.บางคนที คือกลุ่มชาวบ้านที่มีอาชีพหลักดั้งเดิมคือการทำสวนมะพร้าว แต่ด้วยปัญหาความเดือดร้อนจากราคามะพร้าวผลที่ตกต่ำอย่างมาก ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นมารวมกลุ่มพัฒนาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ ‘น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น’ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงปากท้อง

%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B5 1 1
ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจาก‘เปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่’

บุปผา ไวยเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก จ.สมุทรสงคราม เล่าว่า เดิมทีชาวบ้านปลูกมะพร้าวผลแก่ขาย แต่ในช่วงนั้นราคาขายตกต่ำมาก จากขายลูกละ 15 บาท เหลือลูกละ 3 บาท เกษตรกรแทบอยู่ไม่ได้เลย เพราะแค่การเก็บมะพร้าว ต้องมีรายจ่ายทั้งค่าสอย ค่าวางมะพร้าว และค่านำมะพร้าวขึ้นรถเข็น รายได้จากการขายมะพร้าวแทบไม่พอจ่ายค่าจ้างด้วยซ้ำ จึงคิดกันว่าจะเพิ่มมูลค่ามะพร้าวได้อย่างไร กระทั่งมีโอกาสไปดูงานการแปรรูปมะพร้าว ก็เลยได้แนวคิดการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งตอนนั้นมีการรวมกลุ่มเล็ก ๆ ช่วยกันทำในโรงเรือน เป็นสินค้าแปรรูปชิ้นแรก และได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า

%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B5 4
ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจาก‘เปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่’

ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจะมีเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งอยู่มาก แม้จะนำไปขายต่อให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ปลูกต้นไม้ได้บ้าง แต่ก็ยังจำหน่ายได้ในราคาถูกและเหลือปริมาณมาก บุปผา จึงเกิดแนวคิดนำมาเป็นวัตถุดิบทำ ‘ผ้ามัดย้อมจากเปลือกมะพร้าว’ โดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมผสานกับนวัตกรรมจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)

“เราชอบผ้ามัดย้อมเป็นทุนเดิม เริ่มแรกลองใช้ความรู้ที่มี นำเปลือกมะพร้าวมาแช่น้ำ พอมีสีออกมา ก็ใช้ย้อมผ้า ปรากฏว่าผ้าติดสีไม่ค่อยดี สีไม่สม่ำเสมอ แถมพอซักแล้วสีซีดจางหรือไม่ก็หลุดหมดเลย ไม่ได้ผล ตอนนั้นจึงไปติดต่ออุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งทางหน่วยงานได้ช่วยประสานงานให้ทางสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เข้ามาช่วย ซึ่งทางทีมวิจัยลงพื้นที่มาสอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเลย ให้ความรู้ตั้งแต่การเลือกผ้าว่าผ้าประเภทไหนติดสี การทำความสะอาดผ้าด้วยเทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซ ซึ่งช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากผ้าในขั้นตอนเดียว แค่แช่ผ้าก็สะอาดหมดจดทำให้ติดสีได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ความรู้เรื่องเทคนิคและกระบวนการสกัดสี วิธีย้อมสีจากเปลือกมะพร้าว ทีมวิจัยสอนตั้งแต่การชั่ง ตวง วัด การผลิตสี การตรวจเช็คความเข้มสีก่อนย้อม การออกแบบลายมัดย้อม การพิมพ์สกรีนสีธรรมชาติ ตลอดจนถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยนาโนเทคโนโลยี ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดนี้ทำให้เราพัฒนาผ้ามัดย้อมสีเปลือกมะพร้าวที่มีคุณภาพและยังมีความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน”

ความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอกไม่ได้มีเพียงการยกระดับเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เปลือกมะพร้าวที่เป็นของเหลือทิ้งสู่สินค้าภูมิปัญญาที่แฝงด้วยนวัตกรรม แต่พวกเขายังนำองค์ความรู้มาขยายผลแก้ปัญหา ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม’ ผลไม้ที่เป็น ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indications : GI’ ของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งกำลังประสบปัญหา ‘ผลผลิตน้อย’

บุปผา เล่าว่า ปัญหาใหญ่ของลิ้นจี่พันธุ์ค่อมคือผลผลิตออกน้อยมากว่า 10 ปีแล้ว ตอนนี้มีผลผลิตไม่ถึง 20% เพราะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรหลายคนตัดสินใจฟันต้นทิ้งและหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมแทนเพราะไม่มีรายได้ น่าเสียดายว่าถ้าชาวบ้านตัดทิ้งหมด ต่อไปคนจะไม่รู้จักลิ้นจี่พันธุ์ค่อมของจังหวัดสมุทรสงคราม จึงปรึกษากับทาง สวทช. ทีมนักวิจัย จึงลองนำเอาใบลิ้นจี่มาผลิตสีดู ปรากฏว่าสีจากใบลิ้นจี่จะสว่างกว่าสีจากเปลือกมะพร้าว สีจากใบลิ้นจี่จะได้โทนส้ม น้ำตาลและเทา ส่วนสีจากเปลือกมะพร้าวจะได้สีโทนน้ำตาลเข้ม

“ทุกวันนี้ผ้ามัดย้อมสีเปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่เป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชนที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างมาก จากแทนที่ปีหนึ่งเก็บลิ้นจี่ได้ปีละ 1 ครั้ง ตอนนี้เก็บใบมาทำผ้ามัดย้อมขายได้ทั้งปี ที่สำคัญทั้งใบลิ้นจี่ และเปลือกมะพร้าวเป็นทุนที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จึงนำมาสกัดสีได้โดยไม่ต้องซื้อจากที่อื่น ทำให้ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้คนในพื้นที่ประมาณ 15% อีกทั้งการนำของเหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ยังเป็นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด ดีต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน”

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก นำ ‘ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่’ มาต่อยอดตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า หมวก ผ้าพันคอ กระเป๋า ผ้าผืน ฯลฯ เพื่อให้ตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย มีการจำหน่ายทั้งที่ร้านของวิสาหกิจฯ และส่งขายให้แก่ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้าน ‘การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ’ ให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ นับเป็นหนึ่งใน ‘ต้นแบบการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มายกระดับวัตถุดิบในพื้นที่สู่ผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน