สิ้นสุดมหากาพย์ “ทุเรียนอลเวง” หลังชุด PCT5 และสืบนครบาล รวบตัว “เจ้าแม่ทุเรียนเก๊” หลังแฝงตัวเข้าสู่โลกตลาด “ทุเรียนออนไลน์” หลอกขายทุเรียนทิพย์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่นิยมสั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์
ตำรวจจึงส่งกำลังลงพื้นที่ ก่อนใช้แผน “หลอกซ้อนหลอก” ล่อให้เจ้าแม่ทุเรียนเก๊ ขับรถมาให้จับถึงที่ โดยเจ้าตัวเผยถึงโมเดลธุรกิจ “เน้นความเสียหายน้อย คนจะไม่ค่อยแจ้งความ” และมี Motto สุดแสบ “ไม่แจ้งความ ก็ไม่เคลีย” เคยโดนจับแต่ไม่เข็ด ทำเอาชุดจับถึงกับส่ายหัว
โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ ตำรวจนำกำลังสืบสวนติดตามจับน.ส.ชนัญชิดา คำหวาน หรือ แพรวพราว อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 81 ม.7 ต.เขวาไร่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ 2 หมายจับ ดังนี้
1. (สภ.เมืองขอนแก่น) หมายจับศาลแขวงขอนแก่นที่ จ.48/2566 ลงวันที่ 17 ก.พ. 66 ข้อหา “ฉ้อโกง และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
2. (สภ.เมืองพะเยา) หมายจับศาลจังหวัดพะเยาที่ จ.30/2566 ลงวันที่ 30 ม.ค. 66 ข้อหา “ฉ้อโกง , โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
ตรวจสอบพบประวัติการก่อเหตุ “ฉ้อโกง และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ” กว่า 5 คดี
1.วันที่ 31 พ.ค. 65 พื้นที่ สน.ลาดกระบัง ก่อเหตุ หลอกขายทุเรียน
2.วันที่ 2 มิ.ย. 65 พื้นที่ สน.โคกคราม ก่อเหตุ หลอกขายทุเรียน
3.วันที่ 14 มิ.ย. 65 พื้นที่ สภ.เมืองพะเยา ก่อเหตุ หลอกขายทุเรียน
4.วันที่ 14 ต.ค. 65 พื้นที่ สน.ดอนเมือง ก่อเหตุ หลอกขายทุเรียน
5.วันที่ 7 ก.พ. 66 พื้นที่ สภ.เมืองขอนแก่น ก่อเหตุ หลอกขายทุเรียน
โดยมีพฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ได้มีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าสู่ตลาด “ทุเรียนออนไลน์” โดยจะเข้าไปอยู่ตามกลุ่มขายของ ขายอาหาร ทั้งทางเฟสบุ๊ค และ กลุ่ม OpenChat ทางไลน์จากนั้นจะโพสขายทุเรียน โดยอ้างเป็นทุเรียนหมอนทองคุณภาพดีจาก จ.จันทบุรี ในราคากิโลกรัมละ100-150 บาท ทำให้เหล่า “สายทุเรียน” ต่างตาลุกวาว เพราะเป็นราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดและเป็นทุเรียนคุณภาพจากสวนโดยตรง
ซึ่งเมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้แล้ว ก็ไม่มีการส่งทุเรียนให้แต่อย่างใด ซึ่งมิจฉาชีพรายนี้ก่อเหตุลักษณะนี้มาเป็นเวลาหลายปี โดยอาศัยที่ยอดความเสียหายที่ไม่มาก ทำให้ผู้เสียหายหลายราย “ปล่อยผ่าน” หรือบางรายแจ้งความดำเนินคดีก็จะ “วิ่งแจ้น” เอาเงินไปเคลียอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้สืบทราบว่ามิจฉาชีพรายนี้ คือ น.ส.ชนัญชิดา คำหวาน หรือ แพรวพราว อายุ 27 ปี ซึ่งได้มีการออกหมายจับกว่า 2 หมายจับ
และจากการตรวจสอบพบข้อมูลการก่อเหตุอีกกว่า 5 คดี แต่เจ้าตัวยังตระเวนก่อเหตุ “ไม่เลิก” ทำให้ประชาชนกลุ่ม “คนรักทุเรียน” ต่างที่ได้รับความเดือดร้อนและหวาดระแวงที่จะต้องสั่งทุเรียนทางออนไลน์กระทั่งความเดือดร้อนได้ส่งถึง พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.ได้ส่งนำกำลังชุด PCT5 และ สืบนครบาล ลงพื้นที่แกะรอย โดยทราบว่า “เจ้าแม่ทุเรียนเก๊” รายนี้อยู่ละแวก ต.บางด้วน อ.เมืองจ.สมุทรปราการ ใช้แผน “ล่อเข้” หลอกให้เจ้าแม่รายนี้ขับรถมาให้จับกุมแบบงง-งง โดยจับกุมได้ที่ หน้าหอพักเลขที่ 31/7 ม.5 ต.บางด้วน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ในชั้นจับกุม น.ส.ชนัญชิดา คำหวาน หรือ แพรวพราว ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า“ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง จุดเริ่มต้นของการเริ่มหลอกลวงขายทุเรียน เพราะว่าเป็นคนชอบกินทุเรียนครั้งเมื่อไปเดินตลาดหาซื้อทุเรียนก็ได้ถ่ายภาพไว้จำนวนมาก เมื่อนำภาพทุเรียนเหล่านั้นมาโพสต์ในโลกโซเชียล พบว่ามีคนสนใจจำนวนมาก จึงเกิดไอเดียที่จะหลอกขายทุเรียน
และเมื่อมีรายใดเข้าแจ้งความก็จะนำเงินไปเคลียกับผู้เสียหาย ซึ่งมีจำนวนน้อยที่จะแจ้งความ เพราะยอดเงินที่ตนเองหลอกลวงนั้นไม่สูงมาก คนส่วนใหญ่จึงมักปล่อยผ่าน และล่าสุดตนเองมีความตั้งใจจะเปลี่ยนจากการหลอกขายทุเรียนเป็นการหลอกขายอาหารสด โดยจะส่งเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ๆบ้าน หากใครอยู่ไกลก็จะไม่ส่ง” หลังการจับกุม เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดีตามกฏหมาย
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า “จากการสืบสวน ผู้ต้องหารายนี้เป็นตัวการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีการใช้บัญชีม้าใดๆ เพราะมั่นใจและเข้าใจว่า ถ้าถูกแจ้งความก็แค่เอาเงินไปเคลีย ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ผมต้องการให้คนแบบนี้ได้รับโทษ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้เคยตกเป็นเหยื่อ แม่ว่าจำนวนเงินจะไม่มาก แต่จะเป็นการทำให้เหล่ามิจฉาชีพย่ามใจและก่อเหตุไปเรื่อยๆ ฉะนั้นอย่าปล่อยผ่าน และจะมีการยกระดับทั้งการสืบสวนและการจับกุม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ.2565 และเพื่อยกระดับตำรวจไทยสู่สากลเพื่อตอบโจทย์ในโลกยุคใหม่ และแม้ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ แต่หากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.”