กยท.จับมือ สสว. เดินหน้าพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรฯ ยกระดับผลิตภัณฑ์ยางสู่มาตรฐานสากล

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ เป็นประธานเปิดประชุม “โครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการกิจการยางภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service)” ณ สถาบันการเงินชุมชนบ้านวังไทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมเชิญสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แจงมาตรการให้ความช่วยเหลือเงินอุดหนุน 50-80% ของค่าใช้จ่ายในการรับบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ จาก สสว. มุ่งสร้างโอกาสพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง

 

635390a5aa0d3dc52edb6993b647c0980503b263636d4dce8b0a13cbace141fd
กยท.จับมือ สสว. ยกระดับผลิตภัณฑ์ยาง

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า กยท. พร้อมประสานความร่วมมือกับ สสว. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการกิจการยาง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ พัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด รวมถึงพัฒนาตลาดต่างประเทศ ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยาง ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การประชุม การบริหารจัดการด้านงบประมาณและการเชื่อมโยงเครือข่ายฯ เพื่อให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถร่วมทำธุรกิจการค้าทั้งในและต่างประเทศ สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล

โดย กยท. ได้คัดเลือกสถาบันเกษตรกรที่มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพ นำร่องเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านคลองโตนพัฒนา สหกรณ์กองทุนสวนยาง ทุ่งใหญ่พัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจอื่นๆ ทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อ สสว. ได้โดยตรง เพื่อขอรับบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ผู้ให้บริการในระบบของ สสว. ซึ่งสามารถขอรับเงินช่วยเหลืออุดหนุน 50-80% ของค่าใช้จ่ายในการรับบริการดังกล่าว จาก สสว.ด้วย

 

“แนวทางการส่งเสริม สนับสนุน สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูปอุตสาหกรรม การตลาด และการประกอบธุรกิจ สามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรให้ดีขึ้น โดยนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนา ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเชื่อมโยงเครือข่ายฯ เกิดเป็นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ สามารถก้าวไปสู่การพัฒนา ผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมยางพาราให้เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล” รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าว

         

นางสาววนิดา จรูญเพ็ญ หัวหน้าส่วนประสานงานเครือข่ายหน่วยงานภาคเอกชน สสว. กล่าวว่ามาตรการการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม “SME ปัง ได้ตังคืน” ของ สสว. เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าถึงบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเลือกรับบริการในด้านที่ตรงกับความต้องการได้ เช่น ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนา บริหารจัดการธุรกิจ ด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ด้านการพัฒนาช่องทางจำหน่ายและการตลาด ตลอดจนการพัฒนาตลาดต่างประเทศ โดย สสว. ให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการรับบริการแบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50 – 80 ตามขนาดธุรกิจ สูงสุดไม่เกินรายละ 200,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครร่วมโครงการ ผ่านแพลตฟอร์ม BDS เว็บไซต์ https://bds.sme.go.th จนถึง 31 ส.ค. 2566