อธิบดีกรมชลฯ สั่งทุกพื้นที่เฝ้าระวังรับมือฝนตก 27 พ.ค.-1 มิ.ย.หลัง กอนช.แจ้งเตือน 21 จว. เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่แจ้งเตือนตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 4/2566 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2566 ที่คาดการณ์ว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนตกเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-1 มิ.ย. 66 ในพื้นที่ 21 จังหวัด ทุกภูมิภาค ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อย่างเคร่งครัด รวมถึงการเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ให้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำท่า และกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%A5 2 1
รับมือฝนตก

“กรมชลฯ ได้นำ 12 มาตรการรับฤดูฝนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มาปรับเป็น 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทาน ประกอบด้วย 1.กักเก็บเต็มประสิทธิภาพ 2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 3. หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง 4.ระบบชลประทานเร่งระบาย 5.เตรียมพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร และ 6. แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้นได้กำชับให้ทุกพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย“ นายประพิศฯ กล่าว

สำหรับพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของ กอนช. ประกอบด้วย

ภาคเหนือ : จังหวัดเพชรบูรณ์

ภาคกลาง : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี

ภาคตะวันออก : จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล