นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 ของจังหวัดชัยภูมิ แหล่งปลูกอันดับที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากจังหวัดเลย เกษตรกรส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 95 ปลูกในพื้นที่ ตำบลท่าหินโงม และตำบลซับสีทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
สศท.5 ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 คาดการณ์ว่า ปี 2566 จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว จำนวน 8,151 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 8,192 ไร่ (ลดลง 41 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.50) เนื่องจากเกษตรกรปรับลดพื้นที่ปลูกเมื่อปีที่ผ่านมาจากปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมี และปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังโรงงานที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ดีและใช้ปุ๋ยเคมีที่น้อยกว่า ผลผลิตรวม จำนวน 32,714 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 38,879 ตัน (ลดลง 6,165 ตัน หรือร้อยละ 14.33) และ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 4,013 กิโลกรัม/ไร่ ลดจากปีที่แล้วที่มีจำนวน4,746 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 733 กิโลกรัม หรือร้อยละ 15) ซึ่งผลผลิตรวมและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากในช่วงต้นปี มีฝนทิ้งช่วง และสภาพอากาศแปรปรวนช่วงผลสับปะรดกำลังเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลสับปะรดบางส่วนไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเกิดภาวะแห้งแล้งทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ บางส่วนไม่ติดผล ผลเล็ก แคระแกร็น ทั้งนี้ สับปะรดปัตตาเวียสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม ประมาณ 17,018 ตัน หรือ ร้อยละ 52 ของผลผลิตทั้งจังหวัด
ขณะนี้ ผลผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดชัยภูมิอยู่ในช่วงออกสู่ตลาดมาก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 สับปะรดปัตตาเวีย จังหวัดชัยภูมิออกตลาดแล้ว 14,123 ตัน คิดเป็นร้อยละ 43.17 ของผลผลิตทั้งจังหวัด ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 เกษตรกรขายผลผลิตเข้าโรงงานแปรรูป จังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง สำหรับราคาขายแบ่งเป็น 2 เกรด (ราคา ณ ไร่นา วันที่ 22 พฤษภาคม 2566) ได้แก่ สับปะรดผลขนาดใหญ่ ราคา 7.70 บาท/กิโลกรัม สับปะรดผลขนาดเล็ก ราคา 2.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนผลผลิต ร้อยละ 10 จำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด ราคา 10 – 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของผล
ทั้งนี้ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จัดอยู่ในกลุ่ม Smooth cayenne เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด ลักษณะผลโตกว่าสายพันธุ์อื่น และยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคสดด้วย ซึ่งมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หากเก็บเอาไว้สักระยะ ก็จะมีรสชาติหวานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ต้นสับปะรดขาดน้ำ ขนาดผลและน้ำหนักสับปะรดลดลง ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสับปะรดสำหรับโรงงาน อีกทั้ง ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและกระจุกตัว ทางคณะทำงานบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ตัวแทนผู้รับซื้อ และตัวแทนเกษตรกรชาวไร่สับปะรด ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ได้แก่ 1) การปรับแผนการผลิตเป็นสับปะรดบริโภคผลสดแทนบางส่วน 2) การเพิ่มช่องทางตลาด หาตลาดอื่นรองรับ เช่น การทำน้ำหมักจากสับปะรด การกระจายเป็นอาหารสัตว์ เช่น โคขุน โคนม และ 3) ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
ทั้งนี้คณะทำงานบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านสถานการณ์ภัยแล้ง และตลาดสินค้าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงาน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์ด้านการผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 จังหวัดชัยภูมิ สามารถสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.5 โทร 0 4446 5120 หรือ อีเมล [email protected]