เปิดเบื้องหลัง ไทยถกแคนาดา ผลักดันเพิ่มนำเข้า “ข้าวหอมมะลิ-ข้าวเพื่อสุขภาพ”จากไทย และอนุมัติวีซ่าให้เชฟไทยเร็วขึ้น เพื่อส่งเสริมร้านอาหารไทยในแคนาดา พร้อมขอให้สนับสนุนการนำเข้าสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เจรจาจับคู่ธุรกิจเกมดิจิทัล เผยยังเห็นร่วมกันในการขับเคลื่อน MSMEs กลุ่มเปราะบาง ดันเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดาให้สำเร็จโดยเร็ว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับ น.ส.แมรี่ อิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการส่งออก ธุรกิจขนาดเล็ก และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของแคนาดา โดยไทยได้ขอให้แคนาดาสนับสนุนการนำเข้า “ข้าวหอมมะลิ” และ“ข้าวเพื่อสุขภาพ” พร้อมทั้งช่วยผลักดันการขอวีซ่าของเชฟไทยให้เร็วขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารไทยในแคนาดา
ทั้งนี้ ไทยยังได้ขอให้แคนาดาสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ใช้แทนพลาสติก ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ของแคนาดา และสินค้าสร้างสรรค์ (Creative) โดยเฉพาะ “เกมดิจิทัล” ซึ่งขอให้แคนาดาช่วยส่งเสริมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching – OBM) เพื่อให้ภาคธุรกิจเกมดิจิทัลของไทยและแคนาดาได้มีโอกาสร่วมงานกัน
ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้ประกอบการ MSMEs และกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่ยากลำบากของสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งได้หารือถึงการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา โดยพร้อมผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลโดยเร็ว เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจของอาเซียนและแคนาดา เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน และช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
สำหรับการค้าระหว่างไทย-แคนาดา ช่วง 3 เดือนปี 2565 (ม.ค.–มี.ค.) มีมูลค่ารวม 727.05 ล้านเหรียญสหรัฐ (23,793.25 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 25.37% โดยไทยส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 501.50 ล้านเหรียญสหรัฐ (16,363.70 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 225.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,429.56 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ผลิตภัณฑ์ยาง และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ