พาณิชย์เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว 2 งวดรวด 30 และ 31 จ่ายชดเชยแค่ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เหตุราคาทะลุเพดาน และข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูกาล เงินจะเข้าบัญชี 18 พ.ค.นี้ มีเกษตรกรได้รับเงิน 2,781 ครัวเรือน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 30 และ 31 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค.2566 และ 6-12 พ.ค.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย และข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว
โดยงวดที่ 30 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,660.28 บาท ชดเชยตันละ 339.72 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,435.52 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,147.60 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,144.04 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,628.43 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล
ส่วนงวดที่ 31 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,686.08 บาท ชดเชยตันละ 313.92 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,022.72 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,200.98 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,145.92 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,700.74 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 18 พ.ค.2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยรวม 2,781 ครัวเรือน
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การที่ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี ในระดับที่สูงกว่าราคาประกัน จนไม่มีส่วนต่างชดเชย ส่งผลให้รัฐบาลจ่ายชดเชยส่วนต่างน้อยลง ช่วยให้ประหยัดงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการได้อีกทางหนึ่ง โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น มาจากตลาดมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเจ้า และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ ทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น
สำหรับการจ่ายชดเชย งวดที่ 1-29 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.636 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,866.32 ล้านบาท โดยเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน