ด่านตรวจพืชหนองคาย ร่วมกับสำนักงานศุลกากร ภาคที่ 2 อ.เมือง จ.หนองคาย และหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 4 สำนักสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชร่วมตรวจจับรถเสริมตู้ทึบสีขาว ยี่ห้อ ฮุนได บริเวณช่องทางออก ด่านพรหมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 เปิดตรวจสอบรถดังกล่าวพบว่า มีการบรรทุก ต้นพันธุ์ทุเรียน จำนวน 3,500 ต้น มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท ออกนอกประเทศ ซึ่งต้นพันธุ์ ทุเรียนจัดเป็นพืชสงวนไทย 11 ชนิด โดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาท จึงได้ทำการยึดของกลางพร้องแจ้งข้อกล่าวหาทำผิด พ.ร.บ.พันธุ์พืชพ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กรณีดังกล่าว เป็นความผิด พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตารา 202, 244, 166 และ 167 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และความผิด พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่ม เติมฯ มาตรา 30 โดยทำการแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิดและส่งมอบของกลางให้สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวนมากแทบทุกจังหวัด และภาคใต้เป็นศูนย์การผลิตต้นกล้าพันธุ์ใหญ่สุด อยู่ที่ จ.ชุมพร โดยส่งต้นพันธุ์ขายทั่วประเทศ
ตลาดใหญ่สุด คือ ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ประมาณว่ามีต้นพันธุ์จำหน่ายปีละ 20 ล้านต้น โดย 90-95% เป็นพันธุ์หมอนทอง ปลูกในประเทศไทยประมาณ 15 ล้านต้น ส่งไปเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ประมาณ 5 ล้านต้น นอกจากนี้ยังมีต้นพันธุ์ของสายพันธุ์หนามดำ มูซังคิง ที่ อ.เบตง จ.ยะลาอีก
ผู้ผลิตต้นพันธุ์รายใหญ่บอกว่า แต่ละปีทำพันธุ์ทุเรียนขายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านต้น หากรวมกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในแต่ละปี ภาคตะวันออกจะผลิตต้นพันธุ์ทุเรียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านต้น
โดยต้นพันธุ์จำนวนนี้ส่งขายกระจายทั่วประเทศ โดย 25% ซื้อไปปลูกซ่อมในสวนเดิม ที่เหลืออีก 75% นำไปปลูกพื้นที่ใหม่ ถ้าคิดคำนวณที่ 25 ต้นต่อไร่ ตกปีละ 300,000 ไร่