เปิดตัวเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วันพืชมงคล ประจำปี พ.ศ. 2566

กรมพัฒนาที่ดิน เปิดตัวเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต้นแบบทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ยึดหลัก “ปลูกได้ ขายเป็น เน้นแปรรูป” สร้างรายได้ที่ยั่งยืน เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566

นายปราโมทย์  ยาใจ  อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่น สาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนดเป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร

%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3 2
คำภีร์ หงษ์คำ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

โดยในปี 2566 นี้ กรมพัฒนาที่ดิน มีเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล  ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง  รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายคำภีร์ หงษ์คำ จังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2566 

             

%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3 3
คำภีร์ หงษ์คำ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

นายคำภีร์ หงษ์คำ มีผลงานดีเด่นทางด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ 19 ไร่  ในการปลูกข้าว (หอมมะลิและไรซ์เบอรี่) ปลูกไม้ผล เช่น ฝรั่งกิมจู น้อยหน่า มะขาม โกโก้ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ผักหวานป่า ไผ่ สัก ประดู่ มะค่า สะเดา ปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ พริก มะเขือ ชะอม กะเพรา มะนาว ผักอื่น ๆ ตามฤดูกาล และปลูกพืชสมุนไพร  พื้นที่ทำการเกษตรของนายคำภีร์ประกอบด้วย 2 ชุดดิน ได้แก่ กลุ่มชุดดินที่ 54 ชุดดินชัยบาดาล (Cd) และกลุ่มชุดดินที่ 48 ชุดดินแก่งคอย (Kak) ซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางและไม่เหมาะกับการปลูกพืชบางชนิด  เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหา โดยนำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินมาใช้ในการวางแผนการใช้ที่ดิน มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ด้วยชุดตรวจสอบดินภาคสนาม มีการปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยการปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ผลิตปุ๋ยหมักด้วยผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 มีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีกล ได้แก่ การปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1 (การปรับหัวคันนาขนาดใหญ่) ลักษณะที่ 2 (การขุดคันคูล้อม) และ ลักษณะที่ 3 (การขุดคูยกร่องสวน) และการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีพืช เช่น การปลูกพืชผสมผสานและการปลูกพืชหมุนเวียน มีการปลูกหญ้าแฝก และขยายพันธุ์หญ้าแฝก 

นอกจากนี้ ด้านการตลาด นายคำภีร์ ก็ยึดหลัก “ปลูกได้ ขายเป็น เน้นแปรรูป” มีการรวมกลุ่มการผลิต ขาย และสร้างตลาดในชุมชน มีการจัดทำปฏิทินการผลิตและบัญชีฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 มีการปรับตัวโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ทางรายการวิทยุ และเว็บไซต์ต่าง ๆ และนายคำภีร์ประสานขอเพิ่มตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยในโรงพยาบาลวิเชียรบุรีเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มมีแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย มีรายได้ 180,000 บาทต่อปี

          

ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของนายคำภีร์เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบล เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านทรัพยากรดินและการจัดการดินของตำบลบึงกระจับ และพื้นที่ใกล้เคียง นายคำภีร์มีความเป็นผู้นำและเสียสละต่อส่วนรวม เป็นผู้นำชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลเกษตรกรต้นแบบดีเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม ประจำปี 2563 กรมพัฒนาที่ดิน รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ประจำปี 2564  .         

         

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  รางวัลเชิดชูเกียรติ “ปราชญ์เพชรบูรณ์” ด้านความรู้และปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่) ปี 2565 สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์  และเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รางวัลที่ 3 ปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย