นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ท้องถิ่น เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้าปศุสัตว์ขอนแก่น พร้อมยกระดับให้เป็นสินค้าปศุสัตว์อัตลักษณ์พื้นถิ่น ให้กับผู้เข้าร่วมงานโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
กรมปศุสัตว์ ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “ผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ท้องถิ่น” โดยกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงสุกรระบบหลุมตำบลบ้านหัน ได้นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานและผลประกอบพร้อมสาธิตเมนู “Pork Chop Steak” จากเนื้อหมูหลุม
ภายใต้แนวคิดการจัดการเลี้ยงดูปศุสัตว์ตามวิถี“เกษตรธรรมชาติ” ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ และพืช ผัก สมุนไพรพื้นถิ่น เพื่อลดความเครียด เสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง และลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เนื้อที่ได้มีความนุ่ม อร่อย ไม่คาว มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอไมก้า 3 ที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และไขมันอุดตันในหลอดเลือด จึงเป็นFood Quality ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลายตามความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่การตัดแต่งชิ้นส่วนสำหรับทำสเต็ก และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารอีสาน ได้แก่ ไส้กรอกอีสาน แหนม หม่ำ และแดดเดียว เป็นต้น กลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงสุกรระบบหลุมตำบลบ้านหัน ตั้งอยู่ที่ 183 หมู่ 8 ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น เบอร์โทรศัพท์ 093-6073494
และยังมีในส่วนของผลิตภัณฑ์นมจากสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด ที่รับน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ผ่านการตรวจคุณภาพน้ำนมและสิ่งปนเปื้อนจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน GMP ทำให้น้ำนมมีคุณภาพดี สามารถนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายทั้งมอสซาเรลล่าชีส นมสดพาสเจอร์ไรส์ไอศกรีมนมสด และเนยสด ทั้งนี้ ได้สาธิตเมนู “พิซซ่ามอสซาเรลล่าชีส” ซึ่งเป็นชีสสดจากน้ำนมคุณภาพสูงที่ไม่ผ่านการบ่ม มีลักษณะเฉพาะคือความเบาบาง ยืด เหนียว นุ่ม และมีกลิ่นหอม น่ารับประทาน สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ 241 ม.8 ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เบอร์โทรศัพท์ 087-9514422
ดังนั้น วันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะประชาสัมพันธ์และผลักดันผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ท้องถิ่นดังกล่าวให้เป็นสินค้าปศุสัตว์อัตลักษณ์พื้นถิ่น และต่อยอดเป็นสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและคุณค่าของผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ท้องถิ่นทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้า ขยายโอกาสด้านการตลาด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ท้องถิ่นของเกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป