​ปุ๋ยราคาลงรับฤดูกาลผลิต

นับจากเกิด “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ตั้งแต่เดือนก.พ.2565 ได้ส่ง “ผลกระทบ” ต่อโลกเป็นอย่างมาก ทำให้เกิด “ข้าวยาก หมากแพง” จากน้ำมันราคาสูงขึ้น ปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น วัตถุดิบในการผลิตต่าง ๆ สูงขึ้น

จนทำให้ “เงินเฟ้อ” เกิดขึ้นลามไปทั่วโลก และวันนี้หลายประเทศ ยังคงประสบภาวะเงินเฟ้อสูงอยู่

สำหรับไทย ก็หนีไม่พ้น “สินค้า” ขึ้น “วัตถุดิบ” ในการผลิตขึ้น และ “เงินเฟ้อ” ขึ้น

แต่ไทยสามารถ “บริหารจัดการ” ได้เป็นอย่างดี “ผลกระทบ” ที่ว่า “จะมาก” ก็ “ไม่มาก” เกินไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก

เงินเฟ้อไทย เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อเดือนส.ค.2565 ที่ 7.86% จากนั้นก็ลดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงก่อนที่เงินเฟ้อจะขึ้นไป “พีกสุด” ช่วงนั้น มี “สินค้าหลายตัว” ที่ราคาขึ้น มี “วัตถุดิบหลายตัว” ที่ราคาขึ้น ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็ “น้ำมัน-ปุ๋ยเคมี”

%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%8B%E0%B8%A222
ปุ๋ยราคาลง

อย่าง “น้ำมัน” เมื่อต้นทุนขึ้น ราคาก็ขึ้นตาม เพราะปล่อยให้เป็นไปตาม “กลไกตลาด” ช่วงนั้น “คนเติมน้ำมัน” คงทราบซึ้งกันดี

ส่วน “ปุ๋ยเคมี” กระทรวงพาณิชย์ “ไม่ได้ปล่อย” ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ได้เข้าไป “กำกับดูแล” แม้ต้นทุนนำเข้าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ขอให้ผู้ผลิต “ปรับขึ้นราคา” น้อยกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับช่วยหา “แหล่งนำเข้า” ให้ เพื่อแก้ไขปัญหา “การขาดแคลน”

สุดท้าย แม้จะบริหารจัดการได้ดี แต่ราคาก็ขึ้นไป “พีกสุด” ในช่วงเดือนพ.ค.2565 แต่ราคาที่พีก ก็ยังขึ้นน้อยกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้น แม้ราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีการจัดหา “ปุ๋ยราคาถูก” กว่าท้องตลาดให้กับเกษตรกร ซึ่งสามารถช่วยบรรเทา “ความเดือดร้อน” ให้กับเกษตรกรได้ไม่มากก็น้อย

จากนั้น สถานการณ์ปุ๋ยเคมี เริ่มดีขึ้น คือ “ปริมาณ” เพิ่มขึ้น และ “ราคา” ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน “ปุ๋ยเคมี” ในประเทศมี “สต๊อก” มากถึง 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50%

ส่วนราคา ก็ปรับลดลง โดย “ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0” ปรับลดลงแล้ว 47% และ “ปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต 21-0-0” ลดลงแล้ว 37% เมื่อเทียบกับช่วงพีกเดือนพ.ค.2565

“ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน” กล่าวถึงทิศทางสถานการณ์ปุ๋ยเคมีว่า กรมได้เชิญ 3 กรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร และ 4 สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพไทย มาหารือถึงสถานการณ์การผลิต การนำเข้า การจำหน่าย และการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว

ทุกฝ่าย “ยืนยัน” ตรงกัน ปีนี้จะไม่มีปัญหา “การขาดแคลน” อย่างแน่นอน และ “ราคา” ก็มีแนวโน้มปรับ “ลดลง” เพราะ “ต้นทุนปุ๋ย” ลดลงต่อเนื่อง

ทางด้าน “การนำเข้า” ก็ไม่มีปัญหา แหล่งนำเข้ามีให้เลือกมากมาย ทั้งซาอุดิอาระเบียและจีน รวมถึงรัสเซียและเบลารุส “การขนส่ง” ก็ไม่มีปัญหา และที่เคยเป็น “อุปสรรค” ในประเทศ อย่าง “การขึ้นทะเบียน” และ “การออกใบอนุญาตนำเข้า” ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว

ส่วน “ราคา” ก็อย่างที่บอก ปุ๋ยยูเรียลงแล้ว 47% แอมโมเนียมซัลเฟต ลงแล้ว 37% และมีแนวโน้ม “ลงได้อีก”

“สินค้าอื่น ๆ แม้จะมีขึ้น มีลง แต่สำหรับปุ๋ยเคมี ตอนนี้ มีแต่ลงกับลง”ร.ต.จักรายืนยัน

แม้ปุ๋ยเคมีจะราคาลดลง แต่ “กรมการค้าภายใน” ไม่ได้หยุดช่วยเหลือเกษตรกร ยังคงเดินหน้าช่วยลดต้นทุนอย่างเต็มที่

โดยขณะนี้โครงการ “จับคู่ปุ๋ย ซื้อตรง ถูกเงิน ถูกใจ” เพื่อสั่งซื้อปุ๋ยจากโรงงานระหว่างสถาบันเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจขุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือกลุ่มอื่น ๆ กับโรงงาน “ยังไปต่อ” สามารถรวมตัวกัน “จับคู่ซื้อขายปุ๋ย” ในราคาถูกกว่าท้องตลาดได้

นอกจาก “ปุ๋ยเคมี” ราคาลดลง “ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช” ก็ลดลงด้วย โดยราคาลดลงแล้ว “เฉลี่ย 2-9%”

“ยาฆ่าหญ้า” ไกลโฟเซต ลด 2% กลูโฟซิเนต ลด 6% “ยาฆ่าแมลง” อะบาเม็กติน ลด 9% และ “ยากำจัดโรคพืช” โพรพิเนบ ลด 2% เป็นต้น

นับเป็น “ข่าวดี” สำหรับเกษตรกร ที่ทั้ง “ปุ๋ยเคมี” และ “ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช” ลดลง ทำให้ “ต้นทุน” ในการเพาะปลูกลดลง

เพราะตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค.2566 เป็นต้นไป จะเข้าสู่ “ฤดูกาลเพาะปลูก” อย่างเป็นทางการ

ที่สำคัญ ปีนี้ มีแนวโน้มว่า “พืชผลทางการเกษตร” แทบจะทุกรายการ จะมีราคา “สูงขึ้น” กว่าปีก่อน เพราะสถานการณ์ “ผลผลิตเกษตร” ของโลกลดลง จากปัญหา “ร้อน-แล้ง” และยังมีความ “ต้องการ” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ถ้าไม่มี “เหตุการณ์” พลิกผัน

ปีนี้ “สินค้าเกษตร” ราคาขยับขึ้นแน่

ดีใจกับ “เกษตรกร” ที่ต้นทุนลด

และมีแนวโน้มที่จะ “ขายผลผลิต” ได้ราคาดี

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์