สนค.เผย “โปรตีนทางเลือก” ตลาดต้องการเพิ่มต่อเนื่อง ชี้เป็นโอกาสผลิต-ส่งออก

สนค.เกาะติดสถานการณ์โปรตีนทางเลือก อาหารของคนรักสุขภาพ พบมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชี้เป็นโอกาสของไทยที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ สามารถนำมาผลิต แปรรูป ใช้นวัตกรรมผลิตโปรตีนทางเลือกป้อนตลาดได้ แต่ต้องศึกษากฎ ระเบียบ มาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ย้ำ “พาณิชย์” พร้อมหนุนส่งออก เหตุเป็นสินค้าที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์โปรตีนทางเลือก อาหารของคนรักสุขภาพ พบว่า ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นโอกาสสำหรับไทย ที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ มาผลิต แปรรูป และพัฒนานวัตกรรมโปรตีนทางเลือก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยพืชที่ทำได้ เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ขนุนอ่อน ไข่ผำ และแมลง เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนไหม

62d6488b35a33
โปรตีนทางเลือกจากแมลง

“โปรตีนทางเลือก ที่มีแหล่งโปรตีนมาจากพืช สาหร่าย แมลง เชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสุขภาพ ด้วยการลดหรือเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ และโปรตีนทางเลือกยังมีสารอาหารครบถ้วน เพราะมีการเติมสารอาหารต่าง ๆ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ มีรสชาติอร่อย มีกลิ่น เนื้อสัมผัสใกล้เคียงโปรตีนแบบเดิม และยังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 15% เทียบเท่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ 650 ล้านคัน ซึ่งการผลิตโปรตีนทางเลือก นอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย”นายพูนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2564 การบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ของไทย มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดของไทยที่มีมูลค่า 3.62 หมื่นล้านบาท และมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกมีโอกาสเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี จนขยับไปสู่ 5,670 ล้านบาทได้ภายในปี 2567

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับความนิยมของโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในยุโรป โดยจากรายงานของ Globenewswire ให้รายละเอียดอย่างน่าสนใจถึงตลาดโปรตีนทางเลือกของยุโรปในช่วงปี 2566-2571 ว่า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และมีการแข่งขันที่สูง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนใจโปรตีนทางเลือก ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่ามากถึง 1,906.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2566-2571 จะขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 20.2 ต่อปี อีกทั้งตลาดโปรตีนทางเลือกในยุโรปจะมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการบริโภคโปรตีนทางเลือกทั่วโลกภายในปี 2578 โดยได้แรงหนุนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและกำลังซื้อที่ขยายตัว
         

ส่วนปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคโปรตีนทางเลือกในยุโรป คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับสุขภาพ ทำให้ตลาดโปรตีนทางเลือกในยุโรปพัฒนาอย่างมาก และรัฐบาลยังให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเร่งการผลิตโปรตีนทางเลือกให้มีความพอเพียง เช่น เดนมาร์ก มีนโยบายที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ ก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชของโลก ทำให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช และจัดตั้งกองทุน The Plant Fund เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
         

สำหรับไทย ที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย และเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ผลิตและพัฒนานวัตกรรมโปรตีนทางเลือกให้เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ มาตรฐานส่งออกของคู่ค้าแต่ละประเทศประกอบด้วย และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผ่านมา ได้เร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต (future food) เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืช (plant-based) และแมลง (insect-based) ไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งฝั่งยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่ความต้องการบริโภคสินค้าโปรตีนทางเลือกยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก