นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นตรวจติดตามการส่งออกผลไม้ตามมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก ณ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยมี นายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี นายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี นายสมพล ช่างบุ หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอท่าใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเกษตรกร และผู้ประกอบการ
พร้อมทั้งเยี่ยมชมสวนทุเรียนลุงเต่า ของนางสาวขนิษฐา วิญญูนันทกุล สมาชิก Young Smart Farmer อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พื้นที่ 6 ไร่ ซึ่งเปิดให้เป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตรดึงดูดนักท่องเที่ยว และยังเป็นสวนผลไม้แบบผสมผสาน อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น อีกทั้งสวนแห่งนี้ได้รับตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการค้าและผลิตภัณฑ์ “จันท์การันตี” (Chan Guarantee) พ.ศ. 2566 เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่สินค้าผลไม้จังหวัดจันทบุรี และส่งเสริมสัญลักษณ์ของสินค้าผลไม้จังหวัดจันทบุรีให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น จากนั้น ตรวจติดตามมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (ตรวจก่อนปิดตู้) ณ โรงคัดบรรจุทุเรียน “ผู้ใหญ่ตู่” อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
นายสุรเดช กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและติดตามคุณภาพทุเรียน ซึ่งในปี 2566 ทั้ง 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 พันธุ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 10 มีนาคม 2566 พันธุ์ชะนีเก็บเกี่ยวได้วันที่ 20 มีนาคม 2566 และพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้วันที่ 15 เมษายน 2566 หากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด ต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ จุดบริการ สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี รายงานข้อมูลการตรวจเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. – 18 เม.ย.66 จำนวนตัวอย่างทุเรียนแต่ละสายพันธ์ุ รวมสะสม 7,605 ตัวอย่าง (กระดุม 660, ชะนี 193, พวงมะนี 59, หมอนทอง 6,692 และพันธุ์อื่น ๆ 1 ตัวอย่าง)
“ขณะนี้ครบกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนทั้ง 4 สายพันธ์ุ จึงได้ลงพื้นติดตามกำกับควบคุม เพื่อสร้างความมั่นใจคุณภาพทุเรียนก่อนส่งออก พร้อมทั้งได้ให้กำลังใจเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่ามีการขนส่งทุเรียนพันธุ์หมอนทองล็อตแรกจากจันทบุรี ไปยังสถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อส่งออกไปยังเมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยระบบรางโดยรถไฟ จำนวน 25 ตู้” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี รายงานสถานการณ์ตู้ส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีน (ภาคตะวันออก) ณ วันที่ 18 เมษายน 2566 รวมทุกด่านทั้งสิ้น 858 ชิปเมนท์ แบ่งเป็น ทางเรือ 512 ชิปเมนท์ ทางบก 277 ชิปเมนท์ ทางรถไฟ 59 ชิปเมนท์ และทางอากาศ 10 ชิปเมนท์ ยอดสะสมตู้ส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 ถึงปัจจุบัน (18 เม.ย.66) จำนวน 12,908 ชิปเมนท์ หรือประมาณ 225,000 ตัน