กรมวิชาการเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ทุเรียนเปลือกหนา ไม่มีเนื้อ

นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรณีที่มีการนำเสนอข่าวทุเรียนกระดุมที่มีเปลือกหนา ไม่มีเนื้อ ในพื้นที่จังหวัดตราดในช่วงที่ผ่านมา นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความห่วงใยเกษตรกร จึงได้สั่งการให้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี นายสมพร เหรียญรุ่งเรือง และเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมกับหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ลงพื้นที่จังหวัดตราด ให้คำแนะนำทางวิชาการที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99336213983 782135390185798 363646530471037814 n
ติดตามสถานการณ์ทุเรียนเปลือกหนา

นายสมพร เหรียญรุ่งเรือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพืชสวน เบื้องต้นวิเคราะห์สาเหตุของทุเรียนกระดุมที่มีเปลือกหนาและไม่มีเนื้อได้ 2 สาเหตุหลัก คือ

ประเด็นที่ 1 เกิดจากเป็นผลผลิตของต้นทุเรียนสาวที่เพิ่งให้ผลผลิตครั้งแรก โดยทั่วไปทุเรียนจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 หรือ 5 หลังปลูก ผลผลิตที่ออกเป็นชุดแรกของต้น บางครั้งจะมีลักษณะที่ไม่ตรงตามลักษณะพันธุ์ เช่น รูปทรง หรือ ลักษณะของหนาม อีกทั้งอาจมีลักษณะที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเปลือกที่หนามาก จนถึงไม่มีเนื้อในพูบางพู โดยเฉพาะในพันธุ์กระดุมทอง ทั้งนี้เกิดจากการผสมเกสรที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมในวันที่ดอกบาน ความสมบูรณ์ของต้นไม่เพียงพอหรือไม่ได้มีการช่วยผสมจนเกิดเป็นพูหลอกหรือพูลีบได้

ประเด็นที่ 2 การจัดธาตุอาหารและฮอร์โมนที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากการพัฒนาของผลทุเรียนในช่วง 6 สัปดาห์แรก เป็นการพัฒนาในส่วนของเปลือก หากมีการให้ปุ๋ยหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตที่เกี่ยวข้องกับการขยายขนาดผลมากเกินไป จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาขนาดของเปลือกมากกว่าส่วนเนื้อและเมล็ดที่จะเริ่มมีการพัฒนาในสัปดาห์ที่ 8 เป็นต้นไป

ผอ. สถาบันวิจัยพืชสวน กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตทุเรียนในช่วงเดือนนี้ อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งในการผลิตทุเรียนคุณภาพ ต้องมีการดูแลจัดการตั้งแต่เตรียมความพร้อมของต้นให้มีความสมบูรณ์ เพื่อส่งเสริมให้มีการออกดอกและติดผลในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงการจัดการที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล ให้มีคุณภาพทั้งลักษณะผลและเนื้อภายใน

อย่างไรก็ตาม อาการเปลือกหนาและไม่มีเนื้อดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกษตรกรสามารถดูแลจัดการได้ เช่น ในช่วงดอกบานเกษตรกรควรทำการปัดดอกเพื่อช่วยผสม โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่ละอองเกสรพร้อมสมบูรณ์สำหรับการผสม ซึ่งเป็นการทำให้มีการติดผลที่มีเนื้อและเมล็ดทุกพู ระยะติดผลควรมีการตัดแต่งผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งและไว้ผลในปริมาณที่เหมาะสมกับความสมบูรณ์ของต้นและขนาดของทรงพุ่มเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ ตลอดจนจัดการให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพัฒนาการของต้นในช่วงที่มีการพัฒนาเปลือก เนื้อ และ เมล็ด พร้อมกันนี้ได้แนะนำให้เกษตรกรซื้อพันธุ์ทุเรียนที่มีคุณภาพ เพราะจะเจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตทีดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หากต้องการขอคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร และศูนย์วิจัยพืชสวนในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร