กรมชลฯติดตามสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน แนะเกษตรกรงดทำนาปรังต่อเนื่องเพื่อประหยัดน้ำ

 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (11 เม.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 46,979 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,354 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 22,428 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,090 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.29 ล้านไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ 

                 

%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A8
ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 15 – 17 เม.ย. 66 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศของทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

                 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน พร้อมทั้งขอความร่วมมืองดทำนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบที่ 2) เพื่อเป็นการประหยัดน้ำโดยแนะนำให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกอีกครั้ง เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าฤดูฝน ทั้งนี้ เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์จะเข้าสู่ฤดูฝน

               

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1660400002719
กรมชลฯติดตามสถานการณ์น้ำ

จึงขอให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศแนวโน้มฝนจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนที่กรมชลประทานกำหนด ได้แก่ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2.ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก 3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 4.กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และ 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด