นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการโดยเป็นคณะทำงานด้านพัฒนาอาชีพ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม มีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งโครงการดังกล่าว มุ่งแก้ไขปัญหาของประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกในหลาย ๆ ด้าน เช่น ปัญหาเส้นทางคมนาคมของชาวบ้านในพื้นที่สาธารณูปโภค ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่พึงได้รับ ตลอดจนคุณภาพชีวิตต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบแก่ภาครัฐ ในการนำไปเป็นแบบในการพัฒนาชุมชนขยายผลอื่น ๆ ต่อไป
จากการติดตามผลโครงการในปีงบประมาณ 2565 โครงการฯ กำหนดพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายหลัก ได้แก่ บ้านสาละวะ และบ้านไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยผลการติดตามเกษตรกรตัวอย่างทั้ง 2 หมู่บ้าน จำนวน 35 ราย พบว่า การดำรงชีวิตของประชาชนทั้ง 2 หมู่บ้าน จะเน้นการปลูกข้าวไร่และหาของป่ามาบริโภค มีรายได้จากการปลูกไม้ผลเป็นหลัก เช่น หมาก กาแฟ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งวิธีการปลูกของชาวบ้านเป็นการปลูกตามธรรมชาติ โดยหลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร เข้าไปส่งเสริมกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านผ่านโครงการพัฒนาหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย การสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกพืชในโรงเรือนดำเนินการตรวจรับรองแปลงพืชผักอินทรีย์ใหม่ ดำเนินการตรวจแปลงรับรองพืชผักอินทรีย์แปลงใหม่ 4 แปลง รวมทั้งพัฒนาไม้ผลเดิม (หมาก กาแฟ มะม่วงหิมพานต์) โดยสร้างแปลงต้นแบบไม้ยืนต้นผสมผสาน 2 แปลง ส่งเสริมการผลิตและใช้สารชีวภาพ 88 ราย ส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นจำนวน 12 ไร่ ถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกดูแลรักษา และการขยายพันธุ์
ผลจากการดำเนินงาน พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการปลูกผักในโรงเรือน กิจกรรมพัฒนาผลผลิตไม้ผลเดิม การเปลี่ยนวิธีการเก็บผลผลิตจากเดิมการรูดทั้งกิ่งกาแฟ ที่ทำให้ได้ทั้งผลดิบและผลสุก เปลี่ยนเป็นการเก็บแบบเชอรี่ เลือกเฉพาะผลสุก ส่งผลรายได้เพิ่มขึ้นเฉพาะกิจกรรมในโครงการของกระทรวงเกษตรฯ เฉลี่ย 4,239 บาท/ครัวเรือน/ปี ด้านการลดรายจ่าย ดำเนินการส่งเสริมด้วยการนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว 50 ครัวเรือน สนับสนุนพันธุ์ปลาและกบ 85 ครัวเรือน สนับสนุนพันธุ์สัตว์ปีกปรับระบบการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ปีกที่เหมาะสม 15 ครัวเรือน ส่งผลให้เกษตรที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการนำผลผลิตมาบริโภคและใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ตนเอง เฉลี่ย 2,418 บาท/ครัวเรือน/ปี ทั้งนี้ ภาพรวมของเกษตรกร ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเฉพาะกิจกรรมในโครงการของกระทรวงเกษตรฯ 7,430 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการ ที่มีรายได้เฉลี่ย 3,191 บาท/ครัวเรือน/ปี
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังประสบปัญหาจากสัตว์ป่าและศัตรูพืช เช่น หนู หมูป่า ที่เข้ามาทำลายและรบกวนผลผลิต เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ทำการเกษตร เช่น แปลงปลูกข้าวไร่อยู่ห่างจากพื้นที่ชุมชน ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง และปัญหาด้านการตลาดของหมาก จากเดิมพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตของชาวบ้านเพื่อนำไปจำหน่ายต่อที่ด่านชายแดนเมียนมา แต่ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาปิดการค้าขายทางชายแดน พ่อค้าจึงไม่มารับซื้อ ชาวบ้านจึงขาดรายได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแนะนำการทำระบบป้องกันสัตว์ป่าศัตรูพืชที่เหมาะสมและเพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตในประเทศมากขึ้น ส่งเสริมองค์ความรู้ในการรักษาสภาพหมากเพื่อเก็บไว้จำหน่ายในช่วงที่มีการเปิดการค้าบริเวณชายแดนเมียนมาในอนาคต ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ยังคงกำหนดพื้นที่เป้าหมาย แห่งเดิม 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านสาละวะ และ หมู่บ้านไล่โว่ ซี่งกระทรวงเกษตรฯ จะยังร่วมดำเนินการในส่วนของเป็นคณะทำงานด้านพัฒนาอาชีพ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม โดย สศก. และจะรายงานผลการติดตามให้ทราบในโอกาสต่อไป