สศก.ชวนประชาชนอุดหนุน “สับปะรด” ช่วยเกษตรกร เหตุเกษตรกรนำไปขายโรงงานได้ราคาต่ำมาก

เพจสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร( สศก.) โพสต์ข้อความว่า เศรษฐกิจการเกษตรอาสา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ (นายเจนภพ ขิงหอม หมู่ 3 ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ โทร 098 542 3370 ) จะนำ “สับปะรดห้วยมุ่น” สินค้า GI ของจังหวัดอุตรดิตถ์ (ผิวบาง ตาตี้น เนื้อหนานิ่มสีเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานหอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น หอมหวาน กรอบอร่อย ไม่กัดลิ้น) ที่ผลิตได้จากแหล่งผลิตหลัก มาจำหน่ายจำนวน 2.5 ตัน เป็นระยะเวลา 2 วัน ได้แก่ วันอังคารที่ 31 พ.ค. และพุธ 1 มิ.ย. ณ บริเวณใต้อาคารวิสัยทัศน์ สศก.

สืบเนื่องจากสถานการณ์ “ราคาสับปะรดโรงงาน” ที่เกษตรกรขายได้ หากส่งไปให้โรงงานทางภาคตะวันออกและตะวันตก ต่ำมากอยู่ที่ 2.60 บาท/กก. จึงดูแลเอาใจใส่ต่อเพื่อให้ได้ผลผลิตที่แก่จัด รสชาติหวาน วางแผนจำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคสดเพื่อให้สามารถขายได้ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็น6-8 บาท/กก. ซึ่ง“ผลผลิตสับปะรด”ของจ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะ “สับปะรดห้วยมุ่น” จะออกสู่ตลาดมากแบบกระจุกตัวในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 มากถึงร้อยละ 52 ( จำแนกเป็นร้อยละ 30 และร้อยละ 22) ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดโดยหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร อยู่ระหว่างการวางแผนกระจายผลผลิตออกนอกจังหวัดด้วย

284164768 309338114721741 3007477965688233508 n

คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ถกแผนช่วยชาวไร่กระจาย”สับปะรด”สู่ตลาด

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 – 2570 และรับทราบสถานการณ์สับปะรดโรงงาน และแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการสับปะรด ปี 2565

โดยคาดว่าสถานการณ์การผลิต ปี 2565 จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ ผลผลิต 1.772 ล้านตันผลผลิตต่อไร่ 3,875 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.39 ร้อยละ 2.68 และร้อยละ 2.27 ตามลำดับ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2563ถึงต้นปี 2564 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ปล่อยว่างที่เคยปลูกสับปะรดมาก่อน ปลูกแซมสวนยางพาราที่ปลูกใหม่ และคาดว่าสภาพอากาศเหมาะสม ปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ต้นสับปะรดสมบูรณ์ดี สามารถบังคับการออกผลได้เต็มที่ เกษตรกรมีการบำรุงรักษาต้นที่ดี ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี พิษณุโลก เพชรบุรี และระยอง

สำหรับสถานการณ์การตลาด ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2565 (มกราคม – เมษายน 65) สับปะรดที่เข้าโรงงานเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.63 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.18 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 7.66 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้ตลาดต่างประเทศชะลอตัว โรงงานแปรรูปจึงปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น สับปะรดที่ใช้บริโภคเฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.92 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ10.32 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 3.88


ด้านการส่งออก ปี 2565 (มกราคม – มีนาคม) ส่งออกรวม 140,019 ตัน มูลค่า 6,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.05 และร้อยละ 28.79 ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมคณะกรรมการฯได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด(คพจ.) และพาณิชย์จังหวัด ในฐานะคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด (เซลล์แมนจังหวัด) ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดทั้ง 5 ด้านได้แก่

1) เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ประสานโรงงานแปรรูปทั้งในและต่างจังหวัด รวมทั้งขอความร่วมมือให้เพิ่มกำลังการผลิต

2) กระจายผลผลิตภายในจังหวัดและออกนอกแหล่งผลิต โดยเชื่อมโยงตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐเอกชน ช่องทาง Online และ Offline รวมทั้งจัดหาจุดจำหน่ายสับปะรด

3) ส่งเสริมการบริโภค โดยจัดงานประจำจังหวัด งานแสดงสินค้า ตลาดประชารัฐ ร้านธงฟ้า อตก. ฯลฯ ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดในหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯรวมทั้งประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภค

4) ส่งเสริมการแปรรูป โดยขอความร่วมมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และภาคเอกชน รับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป

5) ส่งเสริมการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น และรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ทราบเป็นระยะต่อไป