การนำเข้าผลไม้ในกว่างซีเริ่มคึกคัก ผลไม้อาเซียนเริ่มทะลักเข้าต่อเนื่อง..ไทยต้องเฝ้าระวังเกาะติดสถานการณ์

การปลดล็อกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในการนำเข้าสินค้าผลไม้สดจากต่างประเทศของรัฐบาลจีน (เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566) ได้กระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณด่านทางบกในจีนฟื้นตัวกลับมาคึกคัก รวมถึงด่านในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเฉพาะ ‘ด่านโหย่วอี้กวาน’ ซึ่งเป็นด่านที่มีปริมาณการค้าผลไม้กับอาเซียนมากที่สุดในประเทศจีนและเป็นจุดหมายปลายทางของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศปลดล็อกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 แล้ว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ทีมประเทศไทย ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ประกอบด้วยกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กงสุลฝ่ายพาณิชย์ กงสุลฝ่ายเกษตร และกงสุลฝ่ายศุลกากร ได้ลงพื้นที่“ด่านโหย่วอี้กวาน” เพื่อติดตามสถานการณ์การดำเนินงานที่ด่านฯ ซึ่งประเมินได้ว่า ด่านโหย่วอี้กวานความพร้อมมากพอสมควรในการรองรับผลไม้ไทยในฤดูกาลผลไม้นี้

2023 04 07 2
ผลไม้อาเซียนทะลักเข้ากว่างซี

ตามรายงาน ช่วงที่ผ่านมา ปริมาณรถสินค้าเข้า-ออกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และสร้างสถิติสูงสุดรายวันอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 1,233 คัน / 26 มีนาคม 2566 จำนวน 1,371 คัน ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกเฉลี่ยวันละ 1,200-1,400 คันครั้ง

2023 04 07 2 16
ผลไม้อาเซียนทะลักเข้ากว่างซี

โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานขยายตัวมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ปริมาณรถสินค้าที่ผ่านเข้า-ออก ขยายตัวเกือบ 55% (YoY) ปริมาณรถสินค้าเข้า-ออกรายวันแตะระดับพันคันเป็นเรื่องปกติ

เจ้าหน้าที่ประจำด่านโหย่วอี้กวาน ให้ข้อมูลว่า   สินค้านำเข้าจากอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นผลไม้และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าส่งออก ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าเกษตร และเครื่องจักรกล

ในส่วนของการนำเข้าผลไม้ พบว่า ผลไม้ที่จีนนำเข้าจากอาเซียนกว่า 50% เป็นการนำเข้าผ่านด่านในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง โดยหลังจากที่ผลไม้ผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้าแล้ว ผลไม้เหล่านี้จะลำเลียงต่อไปยังศูนย์ซื้อขายผลไม้แห่งต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองผิงเสียง ซึ่งเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าจากทั่วประเทศจีน เพื่อขนถ่ายตู้สินค้าจีนและขนส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นในจีน

ขณะที่ด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (รหัส IATA : NNG ต่อไปเรียก สนามบินหนานหนิง) ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นกัน หลังจากเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ‘ทุเรียนไทย’ เป็นผลไม้ชนิดแรกที่เปิดประเดิมการเป็นด่านนำเข้าผลไม้ของสนามบินหนานหนิง และเป็นอีก ‘ทางเลือก’ ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด และชมพู่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ‘ทุเรียนญวน’ ได้เริ่มใช้ประโยชน์จากสนามบินหนานหนิงแล้วเช่นกัน โดยทุเรียนจากนครโฮจิมินห์ น้ำหนัก 500 กิโลกรัม ส่งออกด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าไปถึงสนามบินหนานหนิง ถือเป็นผลไม้ชนิดแรกของเวียดนามที่ส่งออกไปยังสนามบินหนานหนิง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประเมินว่า ผู้ส่งออกจะเริ่มกลับมาใช้การขนส่งสินค้าผ่าน ‘ด่านทางบก’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ด่านโหย่วอี้กวาน แม้ว่าด่านจะมีความพร้อมรองรับการนำเข้าผลไม้จากอาเซียนแล้ว แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศบริเวณด่าน ปัญหาความแออัดของรถบรรทุกจากปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง

ดังนั้น ผู้ส่งออกผลไม้ไทยควรติดตามสถานการณ์การขนส่งอย่างใกล้ชิดและวางแผนงานเลือกใช้ช่องทางการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน(กว่างซี) ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงของผลไม้สดที่ต้องรอคิวหรือติดค้างอยู่นอกด่านโหย่วอี้กวานได้ โดยกว่างซียังมีด่านนำเข้าที่พร้อมรองรับผลไม้ไทยอีกหลายด่าน เช่น ด่านท่าเรือชินโจว ด่านทางบกตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านสนามบินหนานหนิง

ในส่วนของสถานการณ์การค้าผลไม้เมืองร้อนในจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน คาดการณ์ว่า ในปีนี้ การค้าผลไม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ซึ่งผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือ เนื่องจากผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนและเป็นผลไม้ที่ไทยเป็นเจ้าตลาดมาอย่างยาวนาน อย่างทุเรียน และมังคุด มาในวันนี้ ไทยเรามีคู่แข่งมากขึ้น เพราะในช่วง 2 ปีมานี้ รัฐบาลจีนเริ่มเปิดตลาดการนำเข้าผลไม้ให้กับประเทศอื่นได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะ ‘เวียดนาม’ ถือเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านจีน มีผลไม้หลายชนิดที่สามารถส่งออกไปจีนได้เหมือนประเทศไทย ที่สำคัญ เวียดนามมีพรมแดนติดกับเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน จึงมีความได้เปรียบด้านการขนส่งและต้นทุนรวม ด้วยระยะทางการขนส่งที่สั้น ซึ่งช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ได้มากกว่าไทย

ท่ามกลางคู่แข่งที่กำลังแข็งแกร่งมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ผลไม้ไทยต้องร่วมกันเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์การค้าผลไม้ของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยที่สูงเหนือคู่แข่ง ส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ที่หลากหลาย สร้างเรื่องราวให้กับตัวสินค้า และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการจดจำในตัวสินค้าใหม่ ๆ

ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง