“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 25 จ่ายชดเชย 3 ชนิด “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี-ข้าวเปลือกเจ้า” เงินเข้าบัญชี 5 เม.ย.นี้ ส่วนอีก 2 ชนิดไม่ต้องจ่าย ข้าวเปลือกเหนียว ราคาทะลุเพดานประกัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูกาล เผยราคาข้าวขยับต่อเนื่อง หลังความต้องการเพิ่มขึ้น เตือนระวังปลอมปนข้าวพื้นนุ่ม พื้นแข็ง หวั่นกระทบต่อคุณภาพ
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 25 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 25-31 มี.ค.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย และข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่ต้องจ่าย เพราะสิ้นสุดฤดูเก็บข้าว
โดยข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,577.51 บาท ชดเชยตันละ 422.49 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 6,759.84 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,903.19 บาท ชดเชยตันละ 96.81 บาทได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 2,420.25 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,922.10 บาท ชดเชยตันละ 77.90 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 2,337.0 บาท ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,299.10 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 5 เม.ย.2566
นายอุดมกล่าวว่า สถานการณ์การซื้อขายข้าวในตลาดช่วงนี้ ผู้แทนสมาคมค้าข้าวไทยให้ข้อมูลว่า ข้าวเจ้ามีความต้องการค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนข้าวชนิดอื่น ๆ มีการซื้อขายกันไม่มาก ทำให้ราคาค่อนข้างทรงตัว ส่วนสถานการณ์การส่งออก ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศให้ข้อมูลว่า ปริมาณการส่งออกจนถึงวันที่ 29 มี.ค.2566 สามารถส่งออกข้าวได้แล้วกว่า 2.06 ล้านตัน เพราะการขนส่งทางเรือกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับค่าเงินบาทที่เริ่มมีเสถียรภาพ รวมถึงประเทศคู่แข่งที่ยังคงมีนโยบายให้เก็บข้าวไว้บริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งการส่งออกในปีนี้คาดว่าอาจจะได้ถึง 8 ล้านตัน โดยประมาณ
สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างในงวดที่ 1-24 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.631 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,863.72 ล้านบาท และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.644 ล้านครัวเรือน วงเงิน 54,020.70 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป
ปัจจุบันการค้าข้าวเริ่มพบปัญหาการปลอมปนของข้าวพื้นนุ่ม และข้าวพื้นแข็ง จึงขอความร่วมมือเกษตรกร โรงสี ผู้ค้า และหน่วยงานในพื้นที่กำกับดูแลและเพิ่มการตรวจสอบ ระมัดระวังไม่ให้เกิดการปลอมปนข้าว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพ และการส่งออกข้าวได้ โดยกรมฯ จะเพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569