พบกับ “เทศกาลชิมทุเรียนดี ชะนีเกาะช้าง (GI)” ครั้งที่ 2

เตรียมพบกับ “เทศกาลชิมทุเรียนดี ชะนีเกาะช้าง (GI)” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2566 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

ในงานพบกับสินค้าอัตลักษณ์ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ( GI ) สินค้า OTOP จากชุมชนอำเภอเกาะช้างและกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

-ปั่นจักรยานชมสวนทุเรียนไปกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด

-ชิมข้าวเหนียวกะทิทุเรียนชะนีเกาะช้าง ฟรี

-ประกวดสุดยอดทุเรียนดีชะนีเกาะช้าง (GI)

334089
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ผลไม้ของจังหวัดตราดกำลังทยอยออกสู่ตลาด การจัดงาน “เทศกาลชิมทุเรียนดี ชะนีเกาะช้าง (GI)” ขึ้นในครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรได้นำผลผลิตออกมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้ชิมผลไม้คุณภาพดี ในราคายุติธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมทักษะด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้และประชาสัมพันธ์ทุเรียนชะนีเกาะช้างให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จังหวัดตราดร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะช้าง เกษตรกรผู้ผลิตผลไม้อำเภอเกาะช้างและหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดงานขึ้น โดยภายในงานมีการประกวดทุเรียนชะนีเกาะช้างคุณภาพดี การจำหน่ายผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนสินค้าโอทอปของดีอำเภอเกาะช้าง การจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ ผลิตภัณฑ์โอทอป และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในโอกาสเดียวกันอีกด้วย

สำหรับประวัติความเป็นมาของทุเรียนในพื้นที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราดนั้น คาดว่ามีการนำทุเรียนมาปลูกเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว แต่เป็นทุเรียนป่าหรือทุเรียนโบราณ ที่มีต้นสูงใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ทุเรียนเม็ด” เนื่องจากมีเมล็ดใหญ่ เนื้ออ่อน รสชาติไม่ดี ต่อมาจึงมีผู้นำกิ่งตอนทุเรียนเข้ามาปลูกในพื้นที่ คาดว่าจะนำต้นพันธุ์ทุเรียนมาจากตำบลตะปอน  อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนพันธุ์อยู่ก่อนแล้ว โดยครั้งแรกที่นำมาปลูกนั้น มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น กบ กระดุม ชมพูศรีและชะนี เป็นต้น แต่ต้นที่เจริญเติบโตได้ดี ต้านทานโรค เนื้อมีรสชาติดีและผลผลิตทนทานต่อการขนส่งก็คือ พันธุ์ชะนี ซึ่งสมัยก่อนการขนส่งทุเรียนเพื่อจำหน่ายจะต้องต่อไม้เป็นกล่องเพื่อบรรจุทุเรียน และนำใส่เรือเพื่อนำมาขายบนฝั่ง

334090
ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ( GI )

ทุเรียนจังหวัดตราดนับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ทุกปีจะออกผลผลิตก่อนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียนชะนีเกาะช้าง หมายถึง ผลผลิตทุเรียนคุณภาพดีที่มาจากต้นทุเรียนพันธุ์ชะนี ที่ปลูกเฉพาะในพื้นที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ที่ได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ขอบเขตพื้นที่การปลูกทุเรียนชะนีเกาะช้าง นับเฉพาะพื้นที่บนเกาะช้าง ซึ่งประกอบด้วยตำบลเกาะช้าง และตำบลเกาะช้างใต้ เท่านั้น ไม่นับรวมหมู่เกาะบริวาร

334094
ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ( GI )

จากข้อมูลทางธรณีวิทยายืนยันว่าพื้นที่อำเภอเกาะช้าง กำเนิดจากหินตะกอนและหินภูเขาไฟ จะมีผลผลิตเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่าเป็นทุเรียนออกตามธรรมชาติ ก่อนพื้นที่อื่น ๆ ในเขตภาคตะวันออก และลักษณะทางเคมีของทุเรียนชะนีเกาะช้างจากการตรวจสอบของห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าทุเรียนชะนีเกาะช้าง มีวิตามิน E และไอโอดีน

%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5 1

ด้าน นายชยุทกฤติ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดตระหนักถึงความสำคัญมุ่งเน้นการพัฒนาทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้าง ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น  เรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (story) ที่ทำให้สินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่น ๆ  มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าและนำไปส่งเสริมให้เกษตรกร เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสามารถพัฒนายกระดับเพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: Geographical Indications) จึงได้มีการจัดโครงการเทศกาลชิมทุเรียนดีชะนีเกาะช้าง (GI)  เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอเกาะช้างได้มีช่องทางและสถานที่จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอเกาะช้าง ตลอดจน เป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้รับทราบเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอเกาะช้างอีกทางหนึ่งด้วย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจมาร่วมงานและอุดหนุนสินค้าคุณภาพ พร้อมเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามของเกาะช้างไปด้วย