วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบริเวณเขาชะพลู ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก บริเวณด้านหลังโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และได้ลุกลามไปยังเขาแหลมที่อยู่ติดกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยในวันนี้ยังคงมีไฟลุกลามบริเวณสันเขาอยู่นั้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ติดตามสถานการณ์และวางแผนเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือ
ซึ่งในเช้าวันนี้ข้อมูลสภาพอากาศพบว่ามีความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60% เป็นค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่สามารถก่อเมฆได้ และมีโอกาสเกิดฝนตก หน่วยฯ จันทบุรีจึงได้วางแผนบินในเวลา 09.50 น.
โดยใช้เครื่องบินขนาดเล็ก (caravan) จำนวน 3 ลำ ปฏิบัติการ 3 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง จำนวน 2,100 กิโลกรัม บินที่ความสูง 6,100 ฟุต บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่การเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี และพื้นที่ไฟป่าจังหวัดนครนายก ทั้งนี้
ช่วงบ่ายได้วางแผนขึ้นบินอีกครั้งในเวลา 13.30 น.ใช้สารฝนหลวง จำนวน 1,100 กิโลกรัม บินที่ระดับความสูง 6,500 ฟุต บริเวณอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ถึงอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี และใช้สารฝนหลวง จำนวน 1,000 กิโลกรัม บินที่ความสูง 5,000 ฟุต บริเวณอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวอีกด้วย
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองทางพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทุกวัน ซึ่งเมื่อวานนี้ (29 มี.ค. 2566) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี และจังหวัดแพร่ ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง มีปฏิบัติการลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็ได้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดอุดรธานี กาฬสินธุ์สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ เลย ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และจังหวัดระยอง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 11 แห่ง รวมถึงบินปฎิบัติการยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในพื้นที่จังหวัดเลย และในวันนี้ หน่วยฯ เชียงใหม่ ได้วางแผนบินช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก และพื้นที่การเกษตรของจังหวัดเชียงราย หน่วยฯ แพร่ ช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และหน่วยฯ อุดรธานี ช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู สกลนคร และกาฬสินธุ์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ขอให้ประชาชนทางพื้นที่ภาคเหนือเฝ้าระวังสุขภาพ หลีกเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองเพื่อลดการส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศ
และสามารถแจ้งสถานการณ์และความต้องการฝนหลวงเข้ามาได้เป็นประจำผ่านทางอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียFacebook Instagram Twitter TikTok : @drraa_pr หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410