ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตรวจเยี่ยมจุดตรวจก่อนตัดตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เน้นย้ำทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในพื้นที่ควบคุมมาตรฐานก่อนส่งออก
ที่สำนักงานเกษตรอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะ ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตร ลงพื้นที่เยี่ยมจุดตรวจก่อนตัด 2 จุดในพื้นที่อำเภอท่าใหม่ ซึ่งช่วงเช้ามีเกษตรนำทุเรียนมาตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรรณ์ได้ เป็นผู้รับลงทะเบียนก่อนตรวจวัดเปิร์เซ็นแห้ง พร้อมทั้งนำทุเรียนไปผ่าและหั่นเพื่อทำการตรวจด้วยตัวเอง
สำหรับการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน จังหวัดจันทบุรี ได้กำหนดระดับความอ่อนแก่ของทุเรียน ด้วยการวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนของกรมวิซาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร
ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นต่ำ ที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้
พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ฤดูกาลนี้เข้มงวดในการควบคุมผลผลิตในการส่งออกต่างประเทศ และแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยเน้นบูรณาการร่วมกัน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี 3 แห่ง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้วงถิ่น อำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ตามจุดต่างๆ ทุกอำเภอ ซึ่งสถานที่หรือจุดที่ให้บริการตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน)
– สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี
– มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี
– สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ
– สถานที่อื่นๆที่คณะทำงานตรวจก่อนตัดระดับอำเภอกำหนด ทั้งระดับตำบลและหมู่บ้าน
จากนั้น คณะได้เดินทางไปยังเทศบาลตำบลสองพี่น้องเพื่อพบปะเจ้าหน้าที่จุดตรวจและเกษตรกรในพื้นที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ขณะที่เกษตรกรที่นำทุเรียนมาตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง บอกว่า แม้ขั้นตอนจะยุ่งยากเล็กน้อย แต่ก็ทำให้การตัดทุเรียนมีคุณภาพมากขึ้น สร้างมาตรฐานในการผลิตทุเรียนที่ดี และทำให้ทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีเป็นที่ต้องการของตลาดปลายทาง อยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียง นำทุเรียนที่ใกล้ได้เวลาเก็บเกี่ยวมาตรวจวัดหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งก่อนที่จะตัดเป็นการสร้างมาตรฐานเดียวกันของการผลิตทุเรียนมีคุณภาพอย่างแท้จริง