เตือนผู้ปลูกทุเรียน ในระยะหัวกำไล รับมือเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณใบ กิ่ง ตา และขั้วผล เมื่อมีการระบาดรุนแรงจะทำให้ส่วนต่าง ๆ ของพืช เหลืองหรือแห้งตาย
การระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียน มักมีการระบาดเป็นกลุ่ม ๆ เนื่องจากแมลงชนิดนี้สามารถเคลื่อนที่ได้เฉพาะระยะตัวอ่อนวัยที่ ๑ เท่านั้น เมื่อมีการลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตไปสู่วัยต่าง ๆ โดยคราบเก่าของวัยที่ ๑, ๒ และ ๓ จะอยู่ด้านข้างของแผ่นปกคลุมลำตัวซึ่งจะขยายขนาดใหญ่ออกเรื่อย ๆ ตามระยะการเจริญเติบโตของเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียน ดังนั้นเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียนจะปกคลุมทั่วทั้งใบ กิ่ง ตา และขั้วผล ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. หากพบเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียนเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายเผาทิ้ง
๒. เมื่อพบเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียนปริมาณน้อยบนใบ ใช้น้ำผสมไวต์ออยล์ ๖๗% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้ทั่วช่วยในการกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียนได้ดี
๓. สารฆ่าแมลงที่ได้ผลในการควบคุมเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียน คือ ไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยพ่นเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดทุเรียนเข้าทำลาย
ส่วนศัตรูสำคัญของทุเรียนอีกชนิดหนึ่ง ก็คือ เพลี้ยแป้ง (mealybugs)เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญพบระบาดทำความเสียหายต่อทุเรียนในแหล่งปลูกทั่วไปดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน ผลแก่ โดยมีมดแดงและมดดำช่วยคาบพาไปตามส่วนต่างๆ ของพืช
ส่วนที่ถูกทำลายจะแคระแกร็นและชะงักการเจริญเติบโตและเพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน(honeydew) ออกมาเป็นเหตุให้ราดำเข้าทำลายซ้ำ ถ้าเพลี้ยแป้งเข้าทำลายทุเรียนผลเล็กจะทำให้ผลแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าเป็นทุเรียนผลใหญ่จะไม่มีความเสียหายต่อเนื้อของทุเรียน แต่ทำให้คุณภาพของผลทุเรียนเสียไป ราคาต่ำ สร้างปัญหาการส่งออกเนื่องจากบางประเทศมีเงื่อนไขกำหนดห้ามมีเพลี้ยแป้งติดไปกับผลทุเรียนส่งออก และเป็นที่รังเกียจของผู้บริโภค
รูปร่างลักษณะ เพลี้ยแป้งเพศเมียมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีสีเหลืองอ่อนหรือชมพู ลักษณะอ้วนสั้น มีผงสีขาวคล้ายผงแป้งปกคลุมลำตัวอยู่ ไข่เป็นกลุ่ม จำนวนไข่แต่ละกลุ่ม 100-200 ฟอง เพศเมียตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ในเวลา 14 วัน ไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้องเพศเมีย ระยะไข่ประมาณ 6-10 วัน
สำหรับเพศเมียเมื่อหยุดไข่ก็จะตายไป ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีสีเหลืองอ่อนไม่มีผงสีขาว ตัวอ่อนจะคลานออกจากกลุ่มไข่เพื่อหาที่ ๆ เหมาะสมเพื่ออยู่อาศัย เพศเมียมีการลอกคราบ 3 ครั้ง และไม่มีปีก
ส่วนเพศผู้ลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีก และมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมียจะวางไข่หลังการลอกคราบครั้งที่ 3 เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ได้ 2-3 รุ่น ใน 1 ปี ในระยะที่พืชอาหารไม่เหมาะสม เพลี้ยแป้งอาศัยอยู่ใต้ดินตามรากพืช เช่น หญ้าแห้วหมู โดยมีมดที่อาศัยกินสิ่งที่ขับถ่ายของเพลี้ยแป้งเป็นตัวพาไปอาศัยตามส่วนต่าง ๆ ของต้นทุเรียน เพลี้ยแป้งจะระบาดทำความเสียหายแก่ผลทุเรียน ตั้งแต่ระยะที่ทุเรียนเริ่มติดผลจนกระทั่งผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว หรือ กลางเดือนกรกฎาคมสำหรับทุเรียนรุ่นหลัง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. หากพบเพลี้ยแป้งระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้งเสีย
2. เมื่อพบเพลี้ยแป้งปริมาณน้อยบนผลทุเรียนใช้แปลงปัด หรือใช้น้ำพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุดไปหรือการใช้น้ำผสม white oil อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยในการกำจัดเพลี้ยแป้งได้ดี
3. เนื่องจากเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดโดยมีมดพาไป การป้องกันโดยใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลง เช่น malathion (Malathion 83 83% EC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ตามกิ่งสามารถป้องกันไม่ให้มดคาบเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของทุเรียนและต้องชุบสารฆ่าแมลงซ้ำทุก 10 วัน หรือการพ่นสารฆ่าแมลงไปที่โคนต้นจะช่วยป้องกันมดและลดการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้มาก
4. สารฆ่าแมลงที่ได้ผลในการควบคุมเพลี้ยแป้งคือ สาร carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งทำลายและต้องหยุดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน