นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ปัจจุบัน (22 มี.ค. 66) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำเฉลี่ยวันละประมาณ 7.38 ล้าน ลบ.ม. ลงสู่ลำปาวและแม่น้ำชี เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ด้านท้ายน้ำในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ก่อนกระจายน้ำเข้าสู่คลองชลประทานต่าง ๆ ส่งไปให้เกษตรกรที่กำลังเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทำการประมง และเพาะเลี้ยงกุ้งแม่น้ำ โดยในปีนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ รวมทั้งยังส่งน้ำให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคบริโภค ตลอดจนรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถส่งน้ำไปสนับสนุนการเพาะปลูกพืชและการใช้น้ำอุปโภคบริโภคให้กับพื้นที่ด้านท้ายได้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
กรมชลฯ จับมือ UNDP ลงนาม MOU เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ
อีกความเคลื่อไหวหนึ่ง วันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย Mr.Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าการลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU)ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมชลประทานได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนแบบให้เปล่าจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ที่มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานประสานหลัก
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวฯ จะช่วยสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ และใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป