“พาณิชย์” ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ไข่ครอบสงขลา” ของดีมีชื่อจังหวัดสงขลา เผยเป็นสินค้าที่ใช้กรรมวิธีการถนอมอาหารตามภูมิปัญญาชาวบ้านมานานกว่า 100 ปี มั่นใจหลังได้ตรา GI สินค้าจะเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นมากขึ้น
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไข่ครอบสงขลา ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติ และลักษณะอันโดดเด่น ผลิตจากกรรมวิธีการถนอมอาหารตามภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวประมงในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานกว่า 100 ปี ด้วยการนำไข่แดงจากไข่เป็ดที่เลี้ยงตามมาตรฐานปศุสัตว์มาแช่หรือหยอดน้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสม จากนั้นบรรจุในเปลือกไข่ที่ตัดแต่งขอบแล้ว และครอบฝาด้วยเปลือกไข่ ก่อนนำไปนึ่งจนมีสีแดงอมส้ม ผิวมันวาว เนื้อสัมผัสมี 3 ระดับ คือ เนื้อลาวา เนื้อยางมะตูม และเนื้อดั้งเดิมเหนียวหนึบ รสชาติมันและเค็มเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นคาว เป็นอาหารท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมสูงและหาทานได้เฉพาะในพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
“การขึ้นทะเบียน GI เป็นการช่วยยกระดับสินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้าและการอนุญาตให้ใช้ตรา GI ไทย การส่งเสริมการตลาด การเพิ่มมูลค่าผ่านการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลสินค้า GI ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ช่วยขับเคลื่อนไข่ครอบสงขลาออกสู่ตลาด เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นต่อไป”
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย รวมแล้ว 177 สินค้า ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ นำมาสู่การสร้างมูลค่างทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชนกว่า 48,000 ล้านบาท
สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ และมีคุณภาพ มีชื่อเสียง สามารถขอรับคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า