ข่าวดีของชาวนา รับส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวด 22 ภายใน 15 มี.ค.นี้ เงินเข้ากระเป๋าชาวนาไทยอีกกว่า 7,052 ครัวเรือน
วันที่ 10 มีนาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ข้าว ปี 4 ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 22 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 4-10 มี.ค. 66 ดังนี้
1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว
2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13, 623.27 บาท ชดเชยตันละ 376.73 บาท
3) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,948.43 บาท ชดเชยตันละ 51.57 บาท
4) ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,993.54 บาท ชดเชยตันละ 6.46 บาท
5) ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,216.29 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย
ซึ่ง ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์งวดที่ 22 ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 7,052 ครัวเรือน
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย รัฐบาลนี้มีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชดเชยเงินส่วนต่างผ่านบัญชี ธ.ก.ส. โดยตรง ให้มีรายได้ตามที่ประกันไว้ โดย 4 ปี ที่ผ่านมา จ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วถึง 180,000 ล้านบาท มีครอบครัวเกษตรกรได้เงินส่วนต่างสูงสุดถึง 76,600 บาท และมีเงินอีกก้อน คือ ไร่ละพัน ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน เข้ากระเป๋าชาวนา
สำหรับข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปีที่แล้วส่งออกปริมาณ 1.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18% โดยข้าวทุกชนิดปี 2564 ส่งออกปริมาณ 6.3 ล้านตัน ปี 2565 ปริมาณ 7.7 ล้านตัน เป็นที่ 2 ของโลก ที่ 1 อินเดีย โดยไทยแซงเวียดนาม และในปี 2566 คาดการส่งออกจะเกิน 8 ล้านตัน มีส่วนช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น ช่วยเกษตรกร ช่วยสร้างเงินให้กับประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้เคยชี้แจง ถึงการโอนเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรที่ผ่านมา ที่มีกรณีโอนเงินไม่สำเร็จจากปัญหาด้านบัญชีเงินฝากนั้น ธ.ก.ส. ได้มีการติดตามแก้ไขปัญหาไประดับหนึ่งแล้ว ทำให้ยอดการโอนเงินให้เกษตรกรไม่สำเร็จลดลง อย่างไรก็ตามเกษตรกรควรตรวจสอบบัญชีเงินฝากและติดต่อกับ ธ.ก.ส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการรับเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการ เช่น กรณีปัญหา ชื่อ–สกุล ไม่ตรง บัญชีปิด บัญชีถูกอายัด หรือหากยังไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. เกษตรกรสามารถติดต่อเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ เพื่อ ธ.ก.ส. จะได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรได้ต่อไป