สนค. ชี้เทรนด์สินค้าไทยในจีน“แป้งข้าวเหนียว”ยึดตลาด 99% “ขนมปังกรอบ”ดาวรุ่ง

สนค. วิเคราะห์เทรนด์สินค้าไทยในตลาดจีนจาก Data Analytics Dashboard ในเว็บไซต์ คิดค้า.com พบไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 14 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาด 2.1% เผย “แป้งข้าวเหนียว” ยึดตลาดจีนได้สูงถึง 99% ตามด้วยข้าวโพดหวานกระป๋อง 79% ขนมปังกรอบ 73% ชี้เป็นรายการที่จีนพึ่งพาไทยสูง แต่ไทยยังต้องเร่งเพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกและชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนจากคู่แข่งในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่ ผลไม้ ยางพารา ในตลาดจีน
         

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามเทรนด์สินค้าไทยในตลาดจีนจาก Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์ คิดค้า.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักวิเคราะห์ และประชาชนที่สนใจสามารถนำข้อมูลเบื้องต้นไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจในอนาคตได้บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน โดยจากการวิเคราะห์ พบว่า ในปี 2565 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาดที่ 2.1% หดตัว 8.4% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และจีนนำเข้าสินค้าจากไทยในปี 2565 เป็นมูลค่า 56,527 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่แหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีน คือ ไต้หวัน รองลงมา คือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
         

capture 20230309 185927
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พบว่า ในรายการสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปยังจีน มีสินค้าบางรายการที่ไทยเป็นผู้นำตลาด โดยสินค้าไทยที่เป็นผู้นำในตลาดจีน 3 อันดับแรก ได้แก่ แป้งข้าวเหนียว มีส่วนแบ่งตลาด 99% ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป 79% และขนมปังกรอบ 73% และจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ยังพบสินค้าที่เติบโตดีในตลาดจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ ขนมปังกรอบ ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 44.1% เครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 16.7% และกล้องถ่ายรูป เพิ่มขึ้น 15.4%

%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7 %E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A
แป้งข้าวเหนียว

ส่วนสินค้าที่ต้องจับตาคู่แข่งทางการค้า แม้สินค้าไทยยังคงส่งออกขยายตัวได้ก็ตาม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งจีนนำเข้าจากไทยขยายตัว 19.4% จากมูลค่านำเข้าในปี 2564 ที่ 2,851.62 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 3,404.55 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 แต่พบว่าส่วนแบ่งตลาดลดลง 5.2% และไก่ ซึ่งจีนนำเข้าจากไทยขยายตัว 14.5% จากมูลค่าที่จีนนำเข้าจากไทย 338.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 387.44 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 แต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง 0.3% สำหรับสินค้าต้องปรับตัว เพราะไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง และจีนมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยสินค้าที่ต้องปรับตัว 3 อันดับแรก ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนแบ่งตลาดลดลง 4.3% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ลดลง 5.0% และยางพารา ลดลง 8.7%

“แป้งข้าวเหนียว เป็นสินค้าที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมาก สามารถยึดส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 99% ตามด้วยข้าวโพดหวานกระป๋อง 79% ขนมปังกรอบ 73% ซึ่งถือเป็นสินค้าที่จีนมีความต้องการจากไทยสูง และควรรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันนี้ไว้ แต่ก็พบว่า หลายสินค้ามีส่วนแบ่งลดลง เนื่องจากคู่แข่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทยไป เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่ ผลไม้ ยางพารา ซึ่งไทยต้องปรับแผนกลยุทธ์การทำตลาด และเจาะเข้าถึงลูกค้าให้เพิ่มขึ้น รวมถึงมุ่งเจาะตลาดเมืองรอง โดยใช้ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียเพื่อทำตลาดมากขึ้น” นายพูนพงษ์กล่าว

สนค. ได้พัฒนาเว็บไซต์ คิดค้า.com เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกรายสินค้า บริการสำคัญ รวมทั้งมิติการค้าทั้งระหว่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้งานวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์การค้าได้อย่างเจาะลึกและทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยใช้แนวคิด Big Data Analytics วิเคราะห์และประมวลผลหลายมิติ หลากมุมมอง

โดยคิดค้า.com มี Data Analytics Dashboard เผยแพร่แล้วรวม 4 หัวข้อ ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึกด้านสินค้าเกษตร (Agriculture Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ ระดับจังหวัด (Province Policy Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าระหว่างประเทศ (Global Demand Dashboard) และข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจบริการ (Services Dashboard) โดยผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และสนใจเทรนด์และข้อมูลแนวโน้มสินค้าไทยในตลาดอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ คิดค้า.comหรือคลิกลิงค์https://bit.ly/GD-country-demand หรือเพจเฟซบุ๊กสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า https://www.facebook.com/TPSO.MOC