กรมชลฯ ย้ำน้ำเหนือเขื่อนวังร่มเกล้า เพียงพอเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค ตลอดฤดูแล้งนี้

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวปริมาณน้ำเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีน้ำต้นทุนเก็บกักไว้ อาจจะขาดแคลนน้ำเพื่อใช้สนับสนุนการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค นั้น

334476269 1347313012669307 2403473576828553424 n 1 1
น้ำเหนือเขื่อนวังร่มเกล้า เพียงพอเพาะปลูกตลอดฤดูแล้งนี้

นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำบริเวณแก้มลิงเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าทั้ง 7 แห่ง มีความจุรวม 22.24 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565) มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 21.26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 95 ของความจุของแก้มลิงทั้งหมด โดยในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอทัพทัน และอำเภอหนองขาหย่าง มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำในแก้มลิงทั้ง 7 แห่ง รวมประมาณ 16.93 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 76 ของความจุของแก้มลิงทั้งหมด

334476269 1347313012669307 2403473576828553424 n 1

สำหรับเขื่อนวังร่มเกล้า เป็นเขื่อนทดน้ำปิดกั้นแม่น้ำสะแกกรัง บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ใช้ในการบริหารจัดการน้ำที่ไหลลงมาจากแม่วงศ์และคลองโพธิ์ ที่จะมารวมกันบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนวังร่มเกล้า ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำแก่เกษตรกร เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตโครงการชลประทานอุทัยธานี ที่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 13,873 ไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 11,198 ไร่ หรือร้อยละ 81 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังที่รอการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 2,675 ไร่ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการฯ

พบว่าขณะนี้เกษตรกรได้ลดการใช้น้ำลงแล้ว ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าประมาณ 0.85 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ยังเหลืออีกประมาณ 2 เดือน โดยโครงการชลประทานอุทัยธานี ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ในวันที่ 5 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร 
                                 

ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 11 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับจะมีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร และอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ข้อควรระวัง

ในวันที่ 5 มี.ค. 66 ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 11 มี.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย