“วันนากโลก” ถูกตั้งขึ้นโดยองค์กร International Otter Servival Fund (IOSF) เพื่อเป็นวันที่ให้เราตระหนักถึงภัยคุกคามที่มีต่อ “นาก” อันได้แก่ การคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัย การค้าขนสัตว์ผิดกฎหมาย การลักลอบนำมาเลี้ยง ปัญหามลภาวะและการล่า
โดยกำหนดให้ “ทุกวันพุธสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม” เป็น ” วันนากโลก” หรือ” World Otter Day” ซึ่งจัดติดต่อกันมาแล้วรวม 5 ครั้ง นับแต่ปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ. 2558 สำหรับปีนี้ “วันนากโลก” ตรงกับวันที่ 25 พ.ค. 2565
“นาก” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Otter” เป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เรียกได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำเลยทีเดียว
“นาก” เป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวคล่องแคล่วว่องไวมาก ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อเวลาดำน้ำจมูกจะสามารถปิดได้เพื่อป้องกันน้ำเข้า
“นาก” สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 60 ฟุต และกลั้นหายใจได้นานถึง 4 นาที ขณะที่ว่ายน้ำและดำน้ำ นากจะใช้วิธีเคลื่อนที่ด้วยการบิดตัวไปมาของลำตัวและหาง อีกทั้ง “นาก”สามารถยืนและเดินด้วย 2 เท้าหลังได้ด้วยเป็นระยะทางสั้น ๆ
“นาก” หากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน นากจะเดินทางเพื่อหากินได้ไกลถึง 20 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น
โดยปกติแล้ว “นาก” จะกินสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นหลัก แต่ก็สามารถล่าสัตว์บกขนาดใหญ่ เช่น เป็ด, ไก่, นกกระทา, กระต่าย เป็นอาหารได้ด้วย จึงมักเป็นศัตรูต่อมนุษย์ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเป็นเกษตรกร
ในเวลากลางคืน “นาก” จะนอนหลับอยู่ในรูที่ขุดไว้ริมตลิ่ง หรือนอนตามซอกโคนต้นไม้หรือบางครั้งอาจจะขึ้นมานอนบนพื้นเปล่า ๆ ริมตลิ่งได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก
“นาก” ให้กำเนิดลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ละครอกจะมีลูกประมาณ 3 ตัว จะออกลูกในรังที่อยู่ตามกอหญ้าหรือพืชน้ำต่าง ๆ ที่มีความสูงและรก โดยเฉพาะใต้ตลิ่งที่มีรากของต้นไม้ใหญ่ยึดไว้และมีทางเข้าออกใต้น้ำได้ จะเป็นที่ ๆ ทำรังอย่างดีที่สุด
“ลูกนาก” ที่เกิดใหม่จะมีขนสีดำเป็นแววมัน และจะอาศัยอยู่ในรังประมาณ 5 สัปดาห์ โดยแม่นากจะนอนกกลูกเพื่อให้ความอบอุ่นอยู่เสมอ ส่วน”นาก” ตัวผู้ซึ่งเป็นพ่อ จะทำหน้าที่คอยส่งอาหารและดูแลความปลอดภัยให้
“ลูกนาก” จะออกจากรังเมื่ออายุได้ 6–7 สัปดาห์ แต่จะยังอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ แม้จะว่ายน้ำได้เลย แต่ก็ไม่คล่องแคล่ว จึงต้องได้พ่อและแม่คอยสอนให้
“ลูกนาก”เมื่อสัมผัสน้ำครั้งแรก จะไม่ค่อยกล้าลงน้ำ พ่อและแม่นากจึงต้องหลอกล่อเพื่อให้ลง และสอนว่ายน้ำให้
“นาก” เป็นสัตว์ที่ร่าเริง และขี้เล่นมาก มีพฤติกรรมชอบเล่นสนุกอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะการลื่นไถลลงมาตามทางลาดชันริมตลิ่งเหมือนสไลเดอร์ในสวนน้ำ โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นปีนตลิ่งครั้งละตัว แล้วใช้ 2 ตีนหลังผลักตัวเองแบบนอนหงายท้องราบหรือท้องคว่ำให้ไถลลงมา นอกจากนี้แล้วเมื่อเวลาเดินทาง นากบางครั้งก็จะใช้วิธีนี้เพื่อให้เร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้แล้ว “นาก”ยังมีพฤติกรรมที่ชอบคลุกตัวเองเข้ากับมูลของตัวเอง เพื่อให้มีกลิ่นประจำตัวติดตัวไปตลอดในฝูง เป็นการแสดงตนและประกาศอาณาเขต กองมูลของนากมักจะมีเศษชิ้นส่วนของปลา เช่น ก้าง, เกล็ด หรือเปลือกหอยที่ย่อยไม่หมดปะปนอยู่ด้วย
จากความขี้เล่นและฉลาด “นาก” จึงเป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงให้เชื่องและนำมาแสดงโชว์ได้ตามสวนสัตว์หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ เช่นเดียวกับ โลมา หรือ แมวน้ำ ผู้ที่เคยเลี้ยงนากไว้เป็นสัตว์เลี้ยงต่างบอกกันว่า นากเป็นสัตว์ที่ซุกซน ขี้เล่น และเชื่องต่อผู้เลี้ยงมาก มีความเฉลียวฉลาดไม่แพ้สุนัขเลยทีเดียว
สำหรับในประเทศไทยามี “นาก” อยู่ 4 ชนิด คือ
- นากใหญ่ขนเรียบ (Smooth-coated otter)
- นากใหญ่ธรรมดา (Eurasian otter)
- นากจมูกขน (Hairy-nosed otter)
- นากเล็กเล็บสั้น (Oriental small-clawed otter)
ปัจจุบัน “นาก” ถูกคุกคามจากสัตว์อื่น ๆ และมนุษย์ ถูกคุกคามแหล่งอาศัย รวมถึงความสะอาดของแหล่งน้ำ ทำให้ขณะนี้จำนวน “นาก”ลดลงไปทุกที ทำให้ “นากทุกชนิด” ในประเทศไทยจัดเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ดังนั้นเนื่องใน “วันนากโลก” ทุกคนควรตระหนักอนุรักษ์แหล่งน้ำ แหล่งอาศัยนาก อย่าทำร้าย”นาก” เพื่อให้ “นาก” อยู่กับเราไปนานๆ