กรมชลประทาน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีตรวจสอบโครงการทุจริตโครงการของรัฐ โครงการก่อสร้างของกรมชลประทาน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน หลังมีผู้ร้องเรียนพบการทุจริต
นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการร้องเรียนการทุจริตโครงการก่อสร้างป้องกันตลิ่งพังที่ฝายดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น กรมชลประทาน ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีตรวจสอบโครงการทุจริตโครงการของรัฐ โครงการก่อสร้างของกรมชลประทาน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว หากพบมูลความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับโครงการฝายดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ก่อสร้างขึ้น เพื่อปิดกั้นลำน้ำแม่ปิงเมื่อปี 2530 และได้มีการก่อสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2557 เพื่อทดแทนฝายเดิมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรได้ประมาณ 17,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลดอยหล่อ และพื้นที่ใกล้เคียง
เหตุผล ความจำเป็นและที่มาของการสร้างฝายดอยน้อย โดยฝายดอยน้อยมีขนาดความยาวสันฝาย 125.00 เมตร สูง 2.55 เมตร ส่งน้ำเข้าระบบส่งน้ำฝั่งขวา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอดอยหล่อ และอำเภอจอมทองพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,200 ไร่
ต่อมาฤดูฝนปี 2554ในช่วงวันที่ 20-30 กันยายน 2554 เกิดพายุฝนตกในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ทำให้น้ำหลากในแม่น้ำปิง เกิดการกัดเซาะทรุดตัว และพังทลายของอาคารในลำน้ำและตลิ่ง เป็นผลให้ฝายดอยน้อยได้รับความเสียหาย ทำให้ราษฎรที่ใช้น้ำจากระบบส่งน้ำของฝายดอยน้อยได้รับความเดือดร้อน
สำนักชลประทานที่ 1 จึงได้เสนอโครงการเข้าแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน(โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนและพร้อมที่ดำเนินการ) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในหลักการ และดำเนินการการก่อสร้างใหม่
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ (1) เพื่อควบคุมและระบายน้ำของแม่น้ำปิงในเขตบ้านดอยน้อยและพื้นที่ใกล้เคียง (2) เพื่อบริหารจัดการน้ำในการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรประมาณ17,000 ไร่ (3) เพื่อจัดหาน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลดอยหล่อและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 9,555 คน (4) เพื่อให้ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น