วันที่ 25 พ.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนประชาชนไม่ “นำเข้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย” เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายและทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและกวดขันตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ ห้ามมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามแดนที่อาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของ “โรคฝีดาษลิง”
รวมทั้งระมัดระวังในการติดตามข่าวสาร อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม หากฉีดวัคซีน AstraZeneca เสี่ยงเป็น“โรคฝีดาษลิง”ไม่เป็นความจริง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคฝีดาษลิง”
เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟัน ซึ่งคนก็สามารถติดโรคได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษา“โรคฝีดาษลิง”ที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อหรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
สำหรับ “ฝีดาษลิง” กลายเป็นอีกโรคติดเชื้อ ที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างจับตามอง ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัส และทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง ไอ จาม เพศสัมพันธ์ แม้ในอดีตจะเคยพบ แต่มักเกิดในประเทศต้นกำเนิดทางแอฟริกา และเป็นการระบาดแบบกระจุกตัว จากนั้นก็หายไป
แต่ล่าสุดกลับมีรายงานพบในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศยุโรป ซึ่งอาการจะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมื่อยตัว และมีตุ่มขึ้นทั่วตัว
ปัญหาที่ขณะนี้กำลังวิตก เนื่องจากการแพร่ระบาดค่อนข้างเร็วแตกต่างจากอดีต ในขณะที่ยารักษาเฉพาะโรคไม่มี เป็นการรักษาตามอาการ
สำหรับมาตรการเฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง” ระบาดในไทยนั้น ด้านกรมควบคุมโรคได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษลิง” (monkey pox) หรือฝีดาษวานร เฝ้าระวังป้องกันโรคนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ กรมควบคุมโรคได้เริ่มต้นให้มีการเฝ้าระวังทั้งในส่วนด่านควบคุมโรคสนามบินต่าง ๆ ไฟท์บินต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงสูง
และทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคนี้ รวมถึงประสานงานคลินิกเฉพาะทาง เน้นการรายงานโรค เพื่อนำไปสู่การรักษา
ขณะที่การตรวจเชื้อ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศักยภาพในการตรวจเชื้อด้วย RT-PCR คล้ายโควิด แต่จะมีน้ำยาตรวจเฉพาะ “ฝีดาษลิง” รวมทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยก็สามารถตรวจเชื้อนี้ได้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจะได้รับคิวอาร์ โคด ในการตรวจสอบอาการของตัวเอง หากสงสัยก็จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ