ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยบางรายจำต้องขาดสภาพคล่องหนัก เพราะการหวนกลับมาระบาดของ ‘หนอนกระทู้หอม’ ศัตรูพืชตัวฉกาจในรอบ 10 ปี ซ้ำร้ายสารเคมีปราบศัตรูพืชทุกชนิดที่เคยใช้ได้ผลกลับใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปด้วยปัญหา ‘การดื้อยา’ ส่งผลให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาท
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแก้ปัญหาเคียงข้างผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ จังหวัดนครปฐม นำ ‘ไวรัสเอ็นพีวี (Nucleopolyhedro Virus: NPV)’ ไวรัสก่อโรคในแมลงเข้าปราบหนอนกระทู้หอมในพื้นที่จนสำเร็จ
สายด่วนจาก ‘หนุ่มสวนกล้วยไม้’
จุดเริ่มต้นของการใช้ไวรัส NPV ช่วยชาวสวนกล้วยไม้ต่อสู้กับหนอนกระทู้หอม ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2562 ที่มีโทรศัพท์สายหนึ่งติดต่อมายังกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) ไบโอเทค สวทช. ในตอนนั้นปลายสายสอบถามด้วยน้ำเสียงที่ไม่แน่ใจนักว่า ‘ที่นี่ผลิตไวรัส NPV ใช่หรือไม่ ใช้ปราบหนอนที่กัดกินต้นกล้วยไม้ได้ด้วยหรือเปล่า’
สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ (กบ) หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัส เอ็นพีวี เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) ไบโอเทค สวทช. เล่าว่า ตอนนั้นเจ้าของสวนกล้วยไม้วัยหนุ่มจากจังหวัดนครปฐมโทรศัพท์ติดต่อมาที่แล็บ เพื่อสั่งซื้อไวรัส NPV สำหรับนำไปกำจัดหนอนที่สวนกล้วยไม้ หลังจากพูดคุยกัน 2-3 ครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ชนิดพันธุ์ของหนอนจากภาพถ่าย (ไวรัสมีฤทธิ์จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอน) เจ้าของสวนรายนั้นก็ตัดสินใจขับรถจากนครปฐมตรงมาที่แล็บเพื่อนำตัวอย่างหนอนมาให้ทีมวิจัยจำแนกชนิดถึงที่ด้วยตัวเอง
“ความมุ่งมั่นของเขาทำให้ทีมตัดสินใจทันทีว่าต้องคว้าโอกาสนี้ไว้ โอกาสที่จะได้ทดลองใช้ไวรัส NPV ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งก็ถือว่าตัดสินใจได้ถูก เพราะปัญหาที่เขาเผชิญรุนแรงกว่าที่คิด ตอนนั้นภาพที่ได้ไปเห็น คือ ต้นกล้วยไม้ในแปลงขนาด 60 ไร่ กำลังโดนกัดกินจนใบและดอกแหว่ง มีหนอนกระทู้หอมกระจายอยู่ทั่วสวน หากไม่รีบแก้ไขอาจไปถึงจุดที่ต้องรื้อทิ้งทั้งแปลงได้”
สาเหตุความเสียหายหนักครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการบุกเข้าทำลายของ ‘หนอนกระทู้หอม’ ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจมาแต่ครั้งเก่าก่อน แต่ยังถูกซ้ำด้วยปัญหา ‘การดื้อยา’ ที่ไม่ว่าสารเคมีชนิดไหนก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ (คุ้น) ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เล่าว่า ตอนนั้นสวนกล้วยไม้โดนหนอนกระทู้หอมบุกเข้าทำลายมาเกินครึ่งปีแล้ว สารเคมีทุกสูตรเอาไม่อยู่ ‘หนอนดื้อยา’ ขณะกำลังพะวงว่าจะต้องรื้อกล้วยไม้ออกทั้งหมดเพื่อพักแปลงหรือไม่ ก็โชคดีมีรุ่นพี่คนหนึ่งในแวดวงไม้ใบแนะนำว่า ‘NPV ใช้ปราบหนอนได้นะ’ จึงรีบหาข้อมูลและติดต่อไปที่แล็บของไบโอเทคเพื่อขอซื้อมาทดลองใช้ทันที ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ต้องพักแปลง เพราะไม่ใช่แค่เราที่เสียหายหนัก ลูกน้องจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้
NPV ไวรัสปราบหนอน ‘ปลอดภัย ไม่ดื้อยา’
NPV คือ ไวรัสก่อโรคในแมลงที่มีความจำเพาะกับหนอนของแมลง 3 ชนิด คือ หนอนกระทู้หอม (SpexNPV) หนอนกระทู้ผัก (SpltNPV) และหนอนเจาะสมอฝ้าย (HearNPV) ซึ่งหนอนทั้ง 3 ชนิด เป็นศัตรูพืชหลักของพืชเศรษฐกิจไทย เช่น หอมแดง หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ผักตระกูลสลัด ผักตระกูลกะหล่ำ ส้ม องุ่น ดาวเรือง กุหลาบ รวมถึงกล้วยไม้
สัมฤทธิ์ อธิบายถึงไวรัส NPV ว่า เมื่อหนอนกินไวรัสที่ฉีดพ่นไว้ที่พืชผัก จะเกิดอาการป่วยบริเวณกระเพาะอาหาร (สังเกตได้จากสีตัวที่เปลี่ยนแปลงไป) ทำให้กินอาหารน้อยลง และตายใน 5-7 วัน โดยไม่ก่อให้เกิดการดื้อยา และด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอนจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไบโอเทคได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและพันธมิตรพัฒนากระบวนการผลิต NPV จนพร้อมผลิตในระดับอุตสาหกรรม และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทไบรท์ออร์แกนิค จำกัด และบริษัทบีไบโอ จำกัด
หลังจากทีมลงพื้นที่เพื่อประเมินวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนการรับมือกับปัญหา พบว่าหนอนกระทู้หอมระบาดหนักมาก จึงได้แนะนำให้ใช้ NPV ในสัดส่วนความเข้มข้นสูง (ความเข้มข้น 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร) เพื่อหยุดการลุกลามของหนอน
“ช่วงแรกของการใช้งานยอมรับว่าต้องอาศัยความเชื่อใจพอสมควร” ศุภิสิทธิ์ กล่าวเสริม และเล่าว่า การใช้ NPV ความเข้มข้นสูงหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ตอนฉีดพ่น NPV ครั้งแรกตอนนั้นต้องรอ 3-5 วันถึงจะเริ่มเห็นผล แต่หลังจากกำจัดรุ่นต่อรุ่นไปได้ประมาณ 2 เดือน ก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า ‘ปราบอยู่’ ตอนนี้ผ่านมา 3-4 ปีแล้ว บอกได้เลยว่า ‘ไม่กลัว รับมือได้สบายมาก’ ก่อนที่พี่กบเข้ามาช่วยเหลือเคยจ้างลูกน้องจับหนอนตัวละบาท จับกันได้มากกว่า 300 ตัวต่อวัน แต่วันนี้เดินผ่านเข้าไปในแปลงกล้วยไม้ซัก 2 แถว ประมาณ 4,000 ต้น จะเจอหนอนอย่างมากแค่ 10 ตัว อยู่ในจุดที่รับได้ (ยิ้ม) แค่คอยคุมไม่ให้หนอนรุ่นใหม่ที่หลุดเข้ามาขยายพันธุ์จนลุกลามก็พอ”
ศุภิสิทธิ์ ไม่เพียงเป็นชาวสวนที่กล้าเปิดใจรับสารชีวภัณฑ์ แต่เขายังผันตัวเป็น ‘นักทดลอง’ ปรับสัดส่วนการใช้สาร NPV จนพบสูตรที่เหมาะแก่การควบคุมหนอนกระทู้หอมในแปลงกล้วยไม้
“ด้วยความชอบคิดชอบลอง จึงได้ทดลอง ‘ปรับสัดส่วนการใช้สาร NPV’ และ ‘รูปแบบการฉีดพ่นสาร’ หลายครั้ง ตัวอย่างหนึ่งที่ทดลองแล้วสำเร็จและพี่กบได้นำไปใช้เป็นต้นแบบให้สวนอื่นๆ คือ การปรับปริมาณการฉีดพ่นจาก 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร สัปดาห์ละ 1 ครั้งในสถานการณ์ปกติ (สัดส่วนที่เหมาะกับการควบคุมปริมาณหนอนกระทู้หอมในภาพรวมของการปลูกพืชผักทั่วไป) ให้เหลือเพียงฉีดพ่น 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะจากการทดสอบพบว่าสัดส่วนเท่านี้ดีเพียงพอต่อการดูแลต้นกล้วยไม้ไม่ให้โดนหนอนกัดกินแล้ว ซึ่งผลลัพธ์นี้ก็ช่วยให้พี่น้องในแวดวงกล้วยไม้เปิดใจมาใช้ NPV มากขึ้นด้วยเพราะนอกจากหนอนจะไม่ดื้อยา ค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าการใช้สารเคมีในระยะยาวมาก” ศุภิสิทธิ์เล่าด้วยความภูมิใจ
‘กอบกู้สวน’ ที่กำลังสลาย รายได้เป็นศูนย์
แน่นอนว่าการระบาดของหนอนกระทู้หอมไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้แก่สวนกล้วยไม้ของผู้ประกอบการรายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสวนกล้วยไม้อีกหลายแห่งในจังหวัดนครปฐม ต้องเผชิญกับวิกฤติไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด ที่ทีมวิจัยถึงขั้นเอ่ยปากว่า ‘สถานการณ์หนักหนานัก’
สัมฤทธิ์ เล่าว่า ภาพสวนกล้วยไม้ที่เห็นชวนหดหู่มาก ต้นกล้วยไม้จำนวนมากเหลือแต่ก้าน สาเหตุมาจากปัญหาเดียวกัน คือ ‘หนอนดื้อยา’ ไม่ว่าจะใช้สารเคมีสูตรไหนปริมาณมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถกำจัดหนอนกระทู้หอมได้แล้ว ตอนนั้นเราจึงรับที่จะช่วยเหลือทันที โดยใช้พื้นที่ 1 แปลง ขนาด 75 ไร่ ในการพิสูจน์ให้เห็นว่า NPV ใช้ได้ผลจริง
คำว่า ‘เจ๊ง’ คือคำจำกัดความที่สะท้อนถึงสถานการณ์ธุรกิจกล้วยไม้ในปี 2562 จากผู้ประกอบการรายนี้ และอีกหลายรายในจังหวัดนครปฐมที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน
เจ้าของสวนสุรชัย (คม) บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด เล่าว่า หลังจากหมดค่าสารเคมีไปหลายแสนต่อเดือนก็ยังรับมือกับหนอนกระทู้หอมไม่สำเร็จ ‘กล้วยไม้โดนกัดกินจนเหลือแต่ก้าน’ จึงตัดสินใจสั่งให้คนงานมัดรวมต้นกล้วยไม้ในแปลงหนึ่งเพื่อชั่งกิโลขายในราคาต่ำกว่าทุน และตัดสินใจใช้อีกแปลงที่โดนหนอนกัดกินหนักเป็น ‘แปลงทดลองใช้ไวรัส NPV ปราบหนอน’ ต้องยอมรับเลยว่าในมุมของผู้ประกอบการ การจะตัดสินใจใช้ NPV เป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจหนักมาก เพราะราคาของผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบตามปริมาณกับสารเคมีถือว่าค่อนข้างแพง และอย่างที่ทราบกันการใช้ชีวภัณฑ์ ‘เห็นผลช้า’
“ทีมวิจัยใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการใช้ NPV ปราบหนอนกระทู้หอมรุ่นแรก และใช้เวลาอีก 2 เดือนกับการกำจัดหนอนรุ่นหลังที่เพิ่งเกิดใหม่ จนแทบไม่หลงเหลือหนอนในแปลง หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ต้นกล้วยไม้ที่เคยเหลือแต่ก้านก็กลับมาออกดอกผลิบานอีกครั้ง จากที่แทบไม่เหลืออะไรกลายเป็นตัดดอกได้วันละหมื่นช่อ และโชคดีมากที่กล้วยไม้กลับมาออกดอกทันช่วงความต้องการในตลาดสูง ตอนนั้นตัดเพื่อส่งออกได้มากถึงวันละหลักแสนช่อ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เราก็ยังโทรไปเล่าให้พี่กบฟังด้วยความสุขทุกครั้งที่ตัดดอกส่งออกได้มาก ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว อัตราการใช้ NPV ของสวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงการฉีดพ่น 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น เพราะจัดการได้อยู่หมัดแล้ว วันนี้เราอยากขอบคุณทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ‘ไม่ใช่แค่ไปต่อได้แบบเรื่อยๆ แต่ไปต่อแบบพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก’ ตอนนี้เราเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของ สวทช. มาก หากมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาแนะนำ ก็ยินดีให้ใช้พื้นที่การเกษตรของบริษัทในการทดลอง ขอบคุณจริงๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์”
‘NPV ใช้ดีจริง’ การันตีจากระดับเซียน
ความสำเร็จจากการใช้ไวรัส NPV กอบกู้วิกฤติการระบาดของหนอนกระทู้หอมของสวนกล้วยไม้ทั้ง 2 แห่ง เริ่มเกิดกระแสปากต่อปากถึงประสิทธิภาพ NPV ที่ได้ผลจริง และไม่เกิดการดื้อยา ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้ แต่คำบอกเล่าของใครจะดีเท่าจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกกล้วยไม้
สัมฤทธิ์ เล่าว่า ‘เฮีย’ หรือ คุณสมลักษณ์ เลิศรุ่งวิทยาชัย เจ้าของบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเพาะปลูกกล้วยไม้ เพราะทำธุรกิจด้านนี้มายาวนานทั้งด้านการเพาะปลูกและการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็กช่อดอกเพื่อส่งออก เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนในแวดวงนี้ ดังนั้นถ้าทำให้เฮียยอมรับได้ ก็เหมือนได้รับใบเบิกทางในก้าวเข้าสู่วงการกล้วยไม้
สถานการณ์ปัญหาการระบาดของสวนบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด แตกต่างจาก 2 สวนก่อนหน้ามาก เพราะปริมาณหนอนกระทู้หอมที่พบจากการสำรวจไม่มากอย่างที่คิด แต่สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหญ่อย่างเฮียสมลักษณ์การมีหนอนกระทู้หอมหลงเหลืออยู่ในแปลงถือว่า ‘จัดการได้ไม่ดีพอ’
สมลักษณ์ เล่าว่า ที่ผ่านมาการจัดการกับหนอนกระทู้หอมทำได้ยาก ต้องสั่งสารเคมีมาใช้ในปริมาณมาก เสียค่าใช้จ่ายหลักแสนต่อเดือนเพื่อกำจัดหนอนออกจากสวน จนตอนนี้หนอนก็เริ่มดื้อยาแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยอมรับตรงๆ ว่าการจะให้ลองเปลี่ยนมาใช้ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำใจได้ยาก เพราะเห็นผลช้า จะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่มั่นใจ ที่แน่ๆ ผลผลิตเราเสียหายไปทุกวัน
“ตอนนั้นหลังจากคุ้นรุ่นน้องในวงการที่ต้องเผชิญปัญหาการกลับมาของหนอนกระทู้หอมเล่าให้ฟังว่าที่สวนได้รับการช่วยเหลือจากทีมวิจัยไบโอเทคจนสามารถรับมือกับหนอนกระทู้หอมได้สำเร็จ เราจึงตอบรับให้ทีมวิจัยเข้ามาทำการทดสอบที่สวนดูบ้าง ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นไปตามคำกล่าวขานนะ ‘คุ้มจริงๆ’ แม้ช่วงแรกต้องลงทุนหนักตามที่อาจารย์สัมฤทธิ์บอก เพื่อลดปริมาณหนอนจนคุมสถานการณ์ได้ ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนั้นเมื่อกลับสู่สถานการณ์ปกติก็ลดปริมาณ NPV ที่ใช้ลงได้กว่าครึ่ง ตอนนี้เราปรับมาใช้เทคนิคฉีดพ่นตามรอบในสัดส่วนที่เราวางไว้เพื่อควบคุมไม่ให้มีหนอนรุ่นใหม่มากัดกินจนเสียหายแล้ว อาจารย์บอกไว้นะว่าสามารถลดอัตราส่วนและปริมาณการฉีดลงเพื่อลดต้นทุนได้ แต่เราเลือกแล้วว่าจะใส่ตามสูตรที่วางไว้เพื่อให้มั่นใจในผลผลิต ‘เอาให้สบายใจ’ (ยิ้ม) เพราะอย่างไรต้นทุนที่ลงไปอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถูกกว่าใช้สารเคมี ถ้ามีเพื่อนในแวดวงเดียวกันเจอปัญหาหนอนกระทู้หอมบุกจะแนะนำให้ใช้แน่นอน เพราะใช้แล้วได้ผลจริง” สมลักษณ์ เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มสะท้อนถึงความสบายใจระหว่างพาเดินชมสวน
“ครั้งแรกที่เจอเฮียแตกต่างจากวันนี้มาก เพราะตอนนั้นเฮียมีแต่สีหน้าที่ตึงเครียดและคำบ่นด้วยความทุกข์ใจ แต่วันนี้นอกจากเฮียจะมีรอยยิ้มให้แล้วยังบอกด้วยว่า ‘ผลประกอบการดี’ ” สัมฤทธิ์ กล่าวเสริมด้วยความภูมิใจ ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จว่า
“คำที่ทีมวิจัยใช้บอกแก่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรเสมอ คือ ‘ศัตรูพืชชนิดนี้ ยกให้เป็นหน้าที่เรา’ เพราะทีมวิจัยทราบดีว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘คุณภาพของผลผลิต’ ดังนั้นหากมีวิธีการใดจะช่วยทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิตได้ ผู้ประกอบการก็ต่างยินดีเปลี่ยน เพียงแต่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นและเชื่อว่า ‘สิ่งที่เราเสนอให้ใช้หรือวิธีการที่เสนอให้ทำนั้นดีจริงๆ’ โดยการให้ความรู้และคำแนะนำในการทำงาน ลงมือทำให้เขาเห็น คอยช่วยเหลืออยู่เคียงข้าง รวมถึงเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน หลังจากนั้นเมื่อคนกลุ่มหนึ่งทำได้สำเร็จแล้ว ก็จะเกิดการบอกต่อองค์ความรู้ สร้างแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ต่อไป”
นอกจากการร่วมเดินเคียงข้างผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่จังหวัดนครปฐมแล้ว ทีมวิจัยและนักวิชาการจาก สวทช. รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ยังร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงกระบวนการการทำงานอีกหลายผลงาน เพื่อช่วยยกระดับการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามแนวทางของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ทั้งนี้ติดตามผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ www.bcg.in.th