ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชื่อมโยงตลาดเส้นไหมระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทอผ้าไหม และเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลงซื้อขายเส้นไหมและผู้ทอผ้าไหม
โดยมีนายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โดยการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย ระหว่างผู้ผลิตเส้นไหมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผ้าไหม กับกลุ่มผู้ทอผ้าไหม ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานฯ 27 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี จังหวัดภาคตะวันตกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ที่สำคัญ คือ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีกลุ่มทอผ้าและผู้ประกอบการทอผ้าไหมเป็นจำนวนมากกว่า 460 รายมีความต้องการเส้นไหม ปีละกว่า 5 – 7 ตันต่อปี และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า เมื่อนำอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เป็นอาชีพใหม่ในพื้นที่มาเปรียบเทียบกับอาชีพทางการเกษตรเดิมของพื้นที่ภาคใต้ทั้งด้านประมง ปศุสัตว์ และพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ทุเรียน ผลไม้อื่น ๆ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ที่ทำรายได้ให้กับประชาชนภาคใต้มาอย่างยาวนาน
การที่จะขยายพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตเส้นไหมในพื้นที่ให้เพียงพอกับความต้องการจึงเป็นข้อจำกัดหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรในการสร้างความร่วมมือและขยายอาชีพหม่อนไหมสู่ชุมชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการสัมมนาเชื่อมโยงตลาดเส้นไหมระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทอผ้าไหม เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
โดยได้สั่งการให้หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ แสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อทราบข้อมูลความต้องการด้านการตลาด และจับคู่กับภาคการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร นำมาวางแผนการผลิต ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด
ซึ่งการจัดงานในวันนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิต ที่ภาครัฐเป็นตัวกลางในการประสานงานจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหม และกลุ่มเกษตรกรผู้รับซื้อวัตถุดิบ ที่จะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพไปทอผ้าไหมในราคาที่เป็นธรรม
สำหรับการจัดงานในวันนี้ มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหม ผู้ประกอบการด้านเส้นไหม และกลุ่มผู้ทอผ้าไหม เข้าร่วม โดยเป็นเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตเส้นไหม เดินทางมาจากพื้นที่ภาคอีสานของสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 3 จ.ขอนแก่น และเขต 4 จ.นครราชสีมา ผู้ประกอบการเส้นไหมจากบริษัท จุลไหมไทย จำกัด เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในหลายจังหวัดอาทิ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชุมพร ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช เป็นต้น
ซึ่งการเชื่อมโยงตลาดเส้นไหมดังกล่าว จะเป็นการจับคู่ทางธุรกิจให้สามารถวางแผนการผลิต ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีมาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าผ้าไหมในเขตภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ให้มากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันการผลิตสินค้าหม่อนไหมของไทยและในตลาดสากลต่อไป