นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ก.พ.66) เวลา 15.30 น. ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ซึ่งสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 26 ก.พ. 2566 เพื่อผลักดันพืชยางพาราให้เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 ปี พ.ศ. 2566
รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้น ด้านการสร้างความร่วมมือของประเทศผู้ผลิตยางพารา ทั้งเกษตรกรสวนยางพารา อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ โดยเน้นความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตร ให้เกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกร ภายใต้การขับเคลื่อน “โครงการเกษตรปลอดภัยครัวไทยสู่ครัวโลก” และ “ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ยั่งยืน
โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอำนวย ปะติเส นายกสมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานรับมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ให้ลูกหลานชาวสวนยางจังหวัดระยอง จำนวน 7 ทุน จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนดรุณาฝูเจ่อ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวรู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ได้ร่วมกับส่วนราชการและภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการต่าง ๆ จัดขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับยางพาราและภาคเกษตรของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นเท่าเทียมกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ในการดูแลพืชเกษตรสำคัญของประเทศ 6 ชนิด ผ่านการประกันราคาพืชเกษตรดังกล่าว รวมถึงการดูแลพืชยางพาราและราคายางพาราในประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราและส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่กำหนดราคาในตลาดโลกไม่ได้ ดังนั้นต้องหาแนวทางในการที่ต้องมีการรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง เพื่อให้ได้ราคายางในราคาที่เป็นธรรมกับการประกอบการของเกษตรกร
ขณะเดียวกันก็หาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต มีการพัฒนาแปรรูปยางพาราที่สอดคล้องกับความต้องการ ตลาดและผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพื่อให้ขายได้ในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ทุกคนทำเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดนลดใช้สารเคมีหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน รวมถึงต้องปลูกพืชในพื้นที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ เพราะจะมีการตรวจสอบย้อนกลับทุกสิ่งที่มาของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ รวมทั้งปรับตัวและพัฒนายางให้มีคุณภาพทันกับการเปลี่ยนแปลง รับความต้องการของโลก โดยเฉพาะการผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้โดยไม่ถูกกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราด้านสุขภาพ ต้องทำให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ
นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเร่งขับเคลื่อนให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้น โดยเร่งพัฒนาประเทศ เพิ่มผลผลิตและรายได้ของประชาชน ควบคู่กับหารายได้จากต่างประเทศเข้าประเทศด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่ม GDP อีกทางหนึ่ง รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งขณะนี้ก็มีความก้าวหน้าโดยลำดับ และเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเจรจาความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น FTA รวมทั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนด
นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือร่วมใจในการผนึกกำลังของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และขอบคุณชาว EEC ทุกคน ข้าราชการ ผู้ประกอบการและนักลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น พร้อมอวยพรให้งานนี้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรยุคใหม่ของไทยให้เจริญก้าวหน้า สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ทุกคนสืบไป
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 รวมทั้งเห็นความสำคัญพืชเศรษฐกิจยางพาราของประเทศไทยและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การรวบรวม ไปจนถึงการขายที่ใช้การตลาดนำการผลิต รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดภัยครัวไทยสู่ครัวโลก” และ “ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม”
นอกจากนี้ ยังได้มีการเชื่อมโยงการนำนวัตกรรมการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตในสวนยาง กับ บ.วารุณา ในเครือ ปตท. และบ. SCGC ในเครือปูนซีเมนต์ไทย พื้นที่สวนยาง จ.ระยอง ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางด้วย พร้อมทั้ง ผลักดันให้ “ยางพาราเป็นพืชวาระแห่งชาติ ก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางยางพารา (Hub) ของโลก เกิดความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมทั้ง การผลักดันระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย (Goal) สร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้ตัวชี้วัด (Target) อันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนายางพาราและพืชเศรษฐกิจภาคตะวันออกในองค์รวม เกิดความยั่งยืนต่อไป
จากนั้นนายกฯเป็นสักขีพยานในกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ EEC ต้นแบบพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ นิทรรศการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางใหม่และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางไทยเพื่อการใช้งานในประเทศ การพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านอุตสาหกรรมยาง พร้อมชมการเติมทุนพัฒนาเพิ่มศักยภาพ SME ไทย การใช้จุลินทรีย์นาโนเทคโนโลยีจบปัญหาเรื่องดินเค็ม ดินเสื่อม ดินเปรี้ยว ดินน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ทดลองสวมถุงมือผ้าเคลือบยางฟองน้ำ ย้ำให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องและขยายองค์ความรู้ต่อให้เกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตและให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งการทำให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมรับรองด้วย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกรีดยางหน้าสูงแนวใหม่โดยใช้เครื่องกรีด ชมองค์ความรู้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อพัฒนาวิชาชีพเกษตรกร พร้อมให้กำลังใจสภาเกษตรกร และชมระบบลำเลียงน้ำยางเพื่อวัลคาไนซ์อย่างต่อเนื่องด้วยเครื่องเร่งอนุภาค ให้คำแนะนำ การใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์เพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ นำทางการปลูกกล้าไม้เศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมคาร์บอนเครดิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดการใช้ปุ๋ยเคมีตามนโยบาย BCG ของรัฐบาล