ทีมข่าวได้มีโอกาสตามชาวบ้าน ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เข้าไปดูวิถีชีวิตในช่วงหัวค่ำ ในพื้นที่อำเภอสอยดาวและโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เพราะ 2 ที่นี้ปลูกลำไยมาก แต่ใครจะรู้ ในสวนลำไย ยังสร้างรายได้ให้ชาวสวนคืนหนึ่งหลักพันบาท ในเวลาเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง เท่านั้น
นายสุทัศน์ นาควัน อายุ 58 ปี ชาวบ้านประดู่งาม ม.1 ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เล่าให้ฟังว่าชาวสวนลำไยจะมีรายได้จากการจับจักจั่นส่งขาย คืนๆหนึ่งก็เกือบหลักพันบาท
วิธีการจับก็ไม่ยาก เพียงแค่ใช้ผ้าใบวางใต้ต้นลำไย มีแผ่นพลาสติกใสผูกกับต้นไม้ เพื่อกันให้จักจั่นบินชนแล้วร่วงลงมาที่พื้นผ้าใบสีฟ้า ซึ่งจะมีกิ่งลำไยสดวางอยู่ เพื่อให้จักจั่นที่ร่วงลงมาอาศัยอยู่ชั่วคราวก่อนจะจับใส่ถุงสีฟ้า จุดนี้จะมีไฟสีฟ้าผูกติดกับกิ่งลำไย เพื่อใช้เป็นตัวล่อให้จักจั่นบินมา
ในสวนลำไย จะมีจักจั่น ส่งเสียงร้องจำนวนมาก เกือบจะหูชา เพราะโคนต้นลำไย จะมีรูที่จักจั่นอาศัยอยู่ใต้ดิน ด้วยสภาพโคนต้นที่มีใบลำไยร่วงทับกันจึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของจักจั่น เราจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมจึงไม่ค่อยมีการเผาเศษไม้ในสวนลำไย
นายสุทัศน์ฯ บอกว่า จักจั่นที่จับขาย จะมี 2 แบบ คือ แบบตัวแก่ ที่บินเกาะบนต้นลำไย ราคาจะอยู่ที่ราว180-250 บาท / ก.ก. (แล้วแต่วัน) แต่หากเป็นตัวอ่อน หรือที่เรียกกันว่านางฟ้า จะอยู่ราว 250-320 บาท / ก.ก. (แล้วแต่วัน) ซึ่งตัวอ่อนจะอยู่โคนต้น ที่เรียกกันว่า จักจั่นลอกคราบ ถือว่า มีราคาแพงมาก และเป็นที่นิยมกินกัน
ขณะที่นายณรงค์ ธรรมรัตน์ ชาวบ้าน ม.15 ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี บอกว่า จักจั่น จะมีให้จับประมาณ 1 เดือน คือ ปลายเดือนมกราคม – ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี ในภาคตะวันออกจะมีเฉพาะที่ อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว เท่านั้น ครอบครัวตัวเองจะใช้เวลาในการจับจักจั่น ตั้งแต่ราว 19.00 – 21.00 น. และจะนำมาขายในตลาดรับซื้อที่ อ.สอยดาว ไม่เกิน 22.00 น. เนื่องจากจะมีพ่อค้ามารับนำไปส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คืนๆ หนึ่งถ้าเป็นต้นฤดูก็จะได้ 6-7 กิโลกรัม รายได้ก็หลักพันบาท
น.ส.สุกัญญา สุนา หรือ เจ๊นา แม่ค้ารับซื้อจักจั่น บอกว่า จักจั่นที่รับซื้อ จะมีคนกลางมาซื้อนำไปส่งอีกทอดจักจั่น เป็นที่ชื่นชอบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแถวอุดรธานี และสกลนคร ซึ่งเป็นตลาดหลักและกระจายไปยังพื้นที่อื่น คืนๆหนึ่งจะมีออร์เดอร์ 100-200 กิโลกรัม ราวๆ 22.00 น. จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปส่ง
เมื่อถามว่า จักจั่นจำนวนมากใส่ในลังไม่ตายหรือ ได้รับคำตอบว่า จะใช้วิธีการน็อคน้ำแข็ง (ทำให้สลบ) เมื่อถึงปลายทาง จักจั่น จะฟื้นส่งเสียงรองตามปกติ วิธีนี้จะไม่ทำให้จักจั่น ตาย
ส่วน เมนูที่นำจักจั่นไปทำกิน ก็จะมีทั้งตำป่น คั่ว ทอด บางรายแกงส้มใส่หน่อไม้เปรี้ยว หรือเมนูอื่นๆที่ชื่นชอบ
เคล็ดลับในการจับจักจั่น คือ ต้องมีไฟส่องที่หัว เตรียมอุปกรณ์ล่อให้จักจั่นบินมารวมให้พร้อม ต้องใช้ไฟสีฟ้า เฉพาะล่อจักจั่น เท่านั้น ห้ามใช้หลอดนีออนตามบ้าน (เพราะจักจั่นจะไม่มา) ห้ามทำให้เกิดแสงสว่างในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้จักจั่นไปรวมที่จุดเดียว และสุดท้ายจักจั่นที่จับได้ ห้ามรวมในถุงปุ๋ย ต้องรวมในถุงตาข่ายที่มีอากาศถ่ายเท อย่างเช่นมุ้งสีฟ้า ที่นำมาเย็บเป็นถึง
หมายเหตุ : จักจั่น จ.จันทบุรี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หากพ่อค้า หรือผู้ที่บริโภค ทราบว่า เป็นจักจั่นจาก จ.จันทบุรี จะซื้อทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า จับด้วยมือ ไม่ได้ใช้ยาฉีด เหมือนบางพื้นที่