ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำแนวทางความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาหลังรับไม้ต่อเจ้าภาพเอเปคจากประเทศไทยในปี 2566 เดินหน้าร่วมกัน ผลักดันการดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคเกษตรต่อเนื่อง ลุยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี พ.ศ. 2573 พร้อมชูธง 5 มาตรการสำคัญของไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงผลักดันนโยบายแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารกับสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ได้มอบหมายให้ สศก. เข้าร่วมประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) ภายใต้กรอบเอเปค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เมืองปาล์มสปริง รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
สำหรับการเข้าร่วมประชุม PPFS ครั้งนี้ เลขาธิการ สศก. ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะรองประธาน มี Ms. Allison Thomas Managing Director, Trade Policy and Geographic Affairs, Foreign Agricultural Service กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา เป็นประธานการประชุม ซึ่งจะเดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคเกษตร และการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี พ.ศ. 2573 ร่วมกับสหรัฐอเมริกา และสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจออกนโยบายที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้ทันต่อความท้าทายของสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร ตลอดจนเน้นย้ำมาตรการ 5 ด้านตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ไทยได้ผลักดัน
ได้แก่ 1) สนับสนุนความปลอดภัยอาหารและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 2) การปรับปรุงการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี 3) การส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4) การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคเกษตร-อาหาร และ 5) การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีการดำเนินงานและขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปคอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งสู่ความยั่งยืนด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร
นอกจากนี้ ผู้แทนฝ่ายไทย โดย สศก. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี พ.ศ. 2573 จำนวน 3 แผน ได้แก่ 1) แผนปฏิบัติการด้านการจัดด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566-2570 เน้นย้ำการดำเนินการ 3 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงอาหาร ความปลอดภัยอาหาร และอาหารศึกษา โดยมุ่งหวังการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 การยุติความหิวโหยและการเกษตรที่ยั่งยืน 2) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566-2570 เน้นย้ำการป้องกันการเกิดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิด บริหารจัดการวัตถุดิบและอาหารส่วนเกินก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหาร และ 3) แแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566-2570 โดยเน้นยกระดับการปรับตัวด้วยการประยุกต์ใช้เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ หรือ Climate Smart Agriculture หรือ CSA การสนับสนุนด้านการตลาดสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ การพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการปรับตัวและการมีส่วนร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ปี 2566 สหรัฐอเมริกา รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพเอเปค 2566 ต่อจากประเทศไทย กำหนด Theme หรือหัวข้อหลัก “Creating a Resilient and Sustainable future all” หรือ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนเพื่ออนาคตสำหรับทุกคน และหัวข้อย่อยของภาคเกษตร คือ “Together Achieving, Sustainable, Equitable and Resilient agri-food system” หรือ การสร้างระบบอาหารและการเกษตรที่มียืดหยุ่น เท่าเทียม ยั่งยืน เพื่อบรรลุผลสำเร็จร่วมกันโดยจะมีการจัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ในเดือนสิงหาคม 2566 ณ รัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเติ้ล สหรัฐอเมริกา