จากกรณีที่เกษตรกรหลายจังหวัดในภาคเหนือ ตลอดจนนักวิชาการมองว่าการนำเข้าผักผลไม้จากจีน กระทบต่อราคาผักในไทย เพราะจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้เกษตรกรไทยบางรายต้องขายขาดทุน หรือบางครั้งต้องปล่อยทิ้งสินค้าไป
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กรมการค้าภายในได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่าย ณ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมือง แหล่งค้าส่งใหญ่ พบว่า สถานการณ์การจำหน่ายผักที่นำเข้ามาจากประเทศจีนยังคงมีปริมาณปกติ ไม่พบว่าปริมาณนำเข้าที่ผิดปกติ ซึ่งการนำเข้าผักมาจากจีนจะมีต้นทุนค่าจัดการ ค่าขนส่ง และอัตราสูญเสีย เป็นต้น ดังนั้นการนำเข้าผักมาจำหน่ายในประเทศไทยจึงขึ้นอยู่กับปริมาณและราคาผักในประเทศ หากเป็นช่วงที่ผักไทยออกน้อยราคาสูงขึ้น ก็อาจจะมีการนำเข้ามาเพิ่มเติม
จากการตรวจสอบราคาผักเมืองหนาว ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าปัจจุบัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ ยังอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปีก่อน เช่น ในปีนี้เกษตรกรขายกะหล่ำปลีอยู่ที่ กก.ละ 5-6 บาท สูงกว่าปีก่อนที่ 4-5 บาท/กก. และปีนี้ผักกาดขาวที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ กก.ละ 7-8 บาท สูงกว่าปีก่อนที่ 6-7 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากพบว่า ปริมาณผักออกสู่ตลาดมากและราคามีแนวโน้มลดลง กรมการค้าภายในจะประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ และอีกทางหนึ่งจะใช้กลไกรถ mobile พาณิชย์ และจุดจำหน่ายต่าง ๆ ในการกระจายโดยตรงไปยังประชาชน ทั้งนี้ หากพบเห็นว่ามีการกดราคารับซื้อ หรือรับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นักวิชาการ อาทิ รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การนำเข้าผักจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 2 สาเหตุ คือ การเปิดรถไฟจีน-ลาว ที่ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งเร็วขึ้น และข้อตกลง RCEP พร้อมระบุด้วยว่า เหตุผลที่จีนสามารถขายผักได้ในราคาต่ำ เพราะต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าจากการวิจัยและพัฒนาซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกรไทย เนื่องจากผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนสูง ทำให้แข่งขันยาก โดยเสนอว่าต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถแข่งขันได้
ขณะที่ ศักดา ศรีนิเวศน์ อดีตนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทางหนึ่งที่เกษตรกรไทยหรือพ่อค้าคนกลางจะต่อสู้กับผักผลไม้นำเข้าจากจีนได้คือจะต้องพัฒนาคุณภาพและรูปแบบการขาย การคัดเลือก ตัดแต่ง การบรรจุให้สวยงามหรือสะดวกต่อการหยิบซื้อของผู้บริโภค เมื่อวางจำหน่ายในท้องตลาด
กล่าวคือ ผักหรือผลไม้ที่วางขายในร้านค้าปลีกหรือตามตลาดสดทั่วไป ต้องอยู่ในรูปที่ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะผักมีคุณภาพดีและขนาดที่สม่ำเสมอ ผักชนิดไหนที่สามารถบรรจุในแพ็กหรือถุงได้ก็ควรทำ จะสังเกตเห็นได้ว่าผักจีนที่มาถึงเมืองไทยส่วนใหญ่เกษตรกรจีนหรือผู้ส่งออกเขาแพ็กมาสวยงาม น่าหยิบ น่าซื้อ เมื่อก่อนเราเคยส่งขายตลาดแบบใส่เข่ง ใส่ตระกร้า รวม ๆ กันมา นั้นไม่มีปัญหา
แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบวิธีการขาย และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว อีกทั้งระบบการขนส่งที่รวดเร็วขึ้นทำให้ผลผลิตถึงผู้บริโภคได้เร็วกว่าแต่ก่อนมาก เราจะมาผลิตเหมือนสมัยก๋งที่มาจากเมืองจีนไม่ได้อีกแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องลงทุน แรก ๆ อาจจะไม่มีกำไร หรือกำไรลดลงกว่าเดิม แต่เชื่อว่าในอนาคตจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนี้คือการพัฒนาทั้งระบบ
ลองถามตัวเองก่อนเวลาไปซื้อผักผลไม้ที่ตลาดเราชอบแบบไหน นั่นแหละคือคำตอบที่เราต้องทำ เปรียบเทียบตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สุก 1 กก. ราคาเท่ากันกิโลกรัมละ 50 บาทใส่ถุงกรอบแกรบ กับอีก 1 กก. เท่ากันใส่กล่องบรรจุสวยงามขายกิโลกรัมละ 60 บาท วางขายคู่กัน ถ้าคุณจะซื้อไปฝากเขาคุณจะเลือกซื้อแบบไหน นั่นก็คือคำตอบว่า “ทำไมเราจึงต้องพัฒนา”