กรมชลฯจัดสรรน้ำตามแผนฤดูแล้งอย่างประณีต ยึด 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งของรัฐบาล

วันที่ 20 ก.พ. 66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

332258261 1365522000948175 5684045665918630889 n
จัดสรรน้ำตามแผนฤดูแล้ง

ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 54,929 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 14,508 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,083 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)

ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.99 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.30 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำให้มีการจัดระเบียบการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวให้ทันตามแผนที่กำหนดไว้ สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ภาพรวมสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประณีต เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม ตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้งของรัฐบาล โดยได้เน้นย้ำให้สำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 20 – 24 ก.พ. 66  ระบุ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียสกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
                                  

ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
                                      

ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.พ. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2 – 5 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง 
                                          

สำหรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ ตลอดช่วง สำหรับในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.พ. 66 ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว