“นาขั้นบันได” ความสำเร็จของ จิตต์ บัวเหล็ก

พ่อจิตต์ หรือ นายจิตต์ บัวเหล็ก เกษตรกรต้นแบบปิดทองหลังพระฯ แห่งบ้านสะจุก หมู่ 7 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เปิดเผยว่า พ่อจิตต์มีไร่ข้าวอยู่หลายแปลง เนื้อที่รวม 15 ไร่ ทั้งหมดเป็นการปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง ซึ่งการทำข้าวไร่จะได้ผลดีในช่วง 2-3 ปีแรกเท่านั้น เพราะดินยังอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มักประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย อย่างปีไหนข้าวเกิดโรค ก็จะไม่พอกิน

328034878 1581822508932452 2229457773299527915 n
จิตต์ บัวเหล็ก

พ่อจิตต์ เริ่มสนใจการทำนาขั้นบันได เมื่อปี 2547 ที่สำนักงานพัฒนาเกษตรที่สูง บ้านสะจุก-สะเกี้ยง เข้ามาส่งเสริมพัฒนาให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ปลูกผลไม้และไม้ใช้สอย กระทั่งอีก 2 ปีต่อมา พ่อจิตต์จึงเข้าร่วมการทำนาขั้นบันได โดยเริ่มจากพื้นที่ 1 ไร่ ทั้งที่พ่อจิตต์อยากทำมากกว่านั้น แต่ด้วยปัญหาขั้นตอนการขุดปรับพื้นที่ ณ ขณะนั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่อาจขยายเพิ่มได้

329247597 720026149851456 189155715399758177 n
นาขั้นบันได

กระทั่งในปี 2554 พ่อจิตต์มีโอกาสได้กลับมาทำนาขั้นบันไดอีกครั้ง เมื่อสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาช่วยแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ โดยนำปราชญ์ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย มาให้คำแนะนำ ประกอบกับตอนนั้นมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ เกือบทั้งตำบล จึงมีการลงแขกช่วยกันขุดนา พ่อจิตต์นำพื้นที่เข้าร่วมการขุดนาจำนวน 2 ไร่ ลงแขกขุดกันประมาณ 20 คน ในเวลา 5 วันก็แล้วเสร็จ หลังจากนั้น พ่อจิตต์ยังขุดปรับต่อด้วยแรงงานของตนเองเพิ่มอีก 1 งาน เมื่อรวมกับที่เคยขุดไว้ตั้งแต่แรก ปัจจุบันพ่อจิตต์มีนาขั้นบันไดทั้งหมดรวม 3 ไร่ 1 งาน

329464163 5996572540422260 96564220728348723 n
นาขั้นบันได

“จริง ๆ เราอยากมีนามากกว่านี้ แต่นาที่จะขุดทำขั้นบันไดได้มันต้องเหมาะสมด้วย ต้องไม่ลาดชันเกินไป ต้องมีแหล่งน้ำที่จะปล่อยไหลเข้าแปลง การพอกพูนคันนาก็ต้องทำให้ใหญ่ สูงและแน่นหนา เพื่อป้องกันการพังและน้ำไหลซึม พื้นที่ของเรามันเหมาะเพียงแค่นี้ก็เอาแค่นี้ ปิดทองฯ เอาความรู้ใหม่มาให้เรา ตอนปราชญ์จากดอยตุงมาเล็งระดับขุดนาโดยใช้สายตา เราก็ลักจำเอา จนพื้นที่ 1 งาน ที่ขุดตอนหลังเราก็เล็ง เราก็ขุดเองเลย เพราะรู้เทคนิคมาแล้ว” พ่อจิตต์เล่าด้วยความภูมิใจ

เมื่อพูดถึงปัญหา พ่อจิตต์ บอกว่า การทำนาขั้นบันไดไม่ค่อยมีปัญหาอะไรที่รุนแรง เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวไร่ เจอบ้างก็คือโรคใบไหม้และโรคคอรวงข้าว แต่ก็สามารถแก้ไขได้ จึงไม่เสียหายอะไรมาก ผลผลิตที่ได้จากการทำนาขั้นบันไดเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวไร่ ก็ได้ผลดีเกินคาดจากที่เคยได้ข้าวเพียง 5 ถังต่อไร่ พอมาทำนาขั้นบันไดได้ผลผลิตถึง 24 ถังต่อไร่ ซึ่งการทํานาขั้นบันไดของที่นี่ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องจ้างแรงงาน เพราะคนในหมู่บ้านช่วยกันลงแรงหมุนเวียนกันไป

“ทุกวันนี้ชาวนาคนอื่น ๆ ก็มาเรียนรู้วิธีการทำงานของพ่ออยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะวิธีการดูแลแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม พ่อจิตต์ยอมรับว่ายังมีชาวบ้านอีกหลายคนยังคงทำข้าวไร่อย่างที่เคย ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยความตั้งใจและปรารถนาดีอยากให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ที่เหมาะสม หันมาทำแบบเดียวกัน พ่อจึงพยายามโน้มน้าวให้เขาหันมาเปลี่ยนวิธีการทุก ๆ ครั้งที่มีโอกาส โดยหวังในใจลึก ๆ ว่าให้คนอื่นเริ่มเห็นประโยชน์ในสิ่งที่พ่อทำ” นายจิตต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำนาขั้นบันได คือ การทำนาบนพื้นที่สูงโดยการขุดปรับพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกพืชไร่ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย การขาดแคลนพื้นที่ราบ ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว และสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่สูงจากพื้นที่ทำการเกษตรธรรมดา นาขั้นบันไดถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาค้นหาเสน่ห์ของนาขั้นบันไดที่ลัดเลาะตามไหล่เขาหรือเนินเขาสูง ทั้งนี้ทำได้โดยการสร้างคันดินทำให้เกิดร่องน้ำ ปรับพื้นที่ให้มีลักษณะเช่นเดียวกับขั้นบันได เพื่อใช้ปลูกพืช เพื่อที่จะลดความลาดชันของพื้นที่ และช่วยลดอัตราการไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน ช่วยให้พืชนำแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า