กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 (สวพ.8) แนะนำให้ ต้องเริ่มปฏิบัติตั้งแต่การตัดแต่งช่อดอก หลังจากนั้นจึงทำการตัดแต่งช่อผลและปลิดผล ที่ไม่มีคุณภาพทิ้งไป เพราะปริมาณช่อดอก และช่อผลที่มากเกินไป จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาของผล ทำให้ผลเจริญเติบโตช้า มีขนาดเล็กและมีผลร่วงในปริมาณมาก ดังนั้นในช่วงที่ลองกองกำลังมีการเพิ่มการเจริญเติบโตของผล เกษตรกรจึงควรปฏิบัติดังนี้
1.การตัดแต่งช่อผล ควรมีการตัดแต่ง 2 ครั้ง
+ครั้งที่ 1 เมื่อช่อผลมีอายุ 2-3 สัปดาห์หลังดอกบาน ตัดผลที่มีการหลุดร่วง ช่อผลที่เจริญเติบโตช้า และช่อผลบริเวณปลายกิ่ง โดยตัดให้เหลือไว้เกินกว่าที่ต้องการจริงประมาณ 10-20% และตัดส่วนปลายช่อผลที่ไม่สมบูรณ์ออกเพื่อให้การสุกและคุณภาพผลสม่ำเสมอ โดยขนาดกิ่งของต้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ควรไว้ช่อผลเพียง 1 ช่อ
+ครั้งที่ 2 เมื่อช่อผลมีอายุ 7-8 สัปดาห์หลังดอกบาน โดยเลือกตัดช่อผลที่มีผลร่วงมาก ช่อผลเล็ก และเจริญเติบโตช้าออก ให้เหลือเพียงช่อที่สมบูรณ์ที่สุด และในแต่ละช่อควรมีระยะห่างกันอย่างน้อย 20 ซม.
2.การปลิดผล ถ้าพบว่ามีผลแตกเน่าควรปลิดทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลามไปยังผลอื่น และปลิดผลบริเวณโคนช่อ เพื่อให้มีช่องว่างระหว่างกิ่งกับช่อผล ซึ่งจะทำให้เก็บเกี่ยวสะดวกขึ้น และยังช่วยลดปัญหามดเข้าไปทำรังอยู่ในช่อผลได้อีกด้วย นอกจากนี้ควรปลิดผลที่อยู่บริเวณปลายช่อผล 2-3 ผล ซึ่งเป็นผลที่สุกช้ากว่าผลอื่นในช่อ โดยปลิดในช่วง 2-3 เดือนก่อนผลสุก เพื่อให้ผลสุกสม่ำเสมอทั้งช่อ ทำให้ขายได้ราคาดี
3.การตัดแต่งกิ่ง ควรตัดกิ่งกระโดงภายในทรงพุ่มทิ้งไป เพื่อลดการแก่งแย่งอาหารระหว่างกิ่งกับช่อผล
4.การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 12-12-17+2 Mg อัตรา 0.5-1 กก./ต้น เพื่อช่วยในการขยายขนาดของผล และก่อนการเก็บเกี่ยว 1 – 1.5 เดือน ควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง สูตร 13-13-21 หรือ 0-0-60 อัตรา 1-2 กก./ต้น เพื่อเพิ่มความหวานและทำให้มีรสชาติดีขึ้น
5.การแตกใบอ่อน มักพบว่าต้นลองกองมีการผลิใบอ่อนขึ้นมา 1 ชุด ในช่วงติดผลอ่อน ซึ่งทำให้เกิดการแก่งแย่งอาหารระหว่างใบและผลอ่อน ให้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นไปที่ใบ1-2 ครั้งในช่วงก่อนใบอ่อนจะคลี่เต็มที่ เพื่อเร่งให้ใบอ่อนพัฒนาเป็นใบแก่เร็วขึ้น
6.การให้น้ำ ช่วงระหว่างการเจริญของผลลองกองต้องการน้ำในปริมาณมากและสม่ำเสมอ หากขาดน้ำในช่วงแรกของการติดผลจะทำให้ผลอ่อนร่วงมาก และถ้าขาดน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ 7-10 หลังดอกบานจะทำให้ผลลองกองชะงักการเจริญเติบโต และช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดคือ ในช่วงที่ผลลองกองกำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง หากลองกองไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอมาก่อน และมีฝนตกจะทำให้เปลือกผลลองกองแตก ดังนั้นตลอดระยะการพัฒนาการของช่อผลควรมีการให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ
7.การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปัญหาที่พบในช่วงนี้ คือ โรคราดำ ทำให้ผลลองกองมีตำหนิ เห็นเป็นคราบสีดำเคลือบอยู่ที่ผิวผลทำให้เป็นลองกองเกรดต่ำ จึงควรทำการป้องกันกำจัด โดยใช้เบนโนมิล 10 กรัม/น้ำ20 ลิตร พ่นก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ร่วมกับการตัดแต่งกิ่ง และการจัดการสวนที่ดี
8.การห่อช่อผล ควรห่อในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 หลังดอกบาน เพื่อป้องกันแมลง และค้างคาว วัสดุที่ใช้ห่อเช่น ถุงตาข่ายไนล่อน หรือถุงกระดาษเคลือบไข ซึ่งการห่อผลนี้จะทำให้ได้ช่อผลมีสีเหลืองนวล และไม่มีริ้วรอยขูดขีด
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ได้วิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลองกองคุณภาพ ในแปลงเกษตรกร จ.สงขลา พัทลุง และสตูล ให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัย
โดยนำเทคโนโลยีการผลิตลองกองที่ได้จากงานวิจัยเข้าไปแนะนำให้เกษตรกรไปปรับใช้ ถ่ายทอดความรู้โดยการจัดฝึกอบรม และให้เกษตรกรลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริงเปรียบเทียบกับวิธีการผลิตแบบเดิมของเกษตรกร พบว่า การจัดการสวนลองกองตามวิธีแนะนำของกรมวิชาการเกษตร สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 45.1% และยังได้ลองกองคุณภาพเกรดเอ มากที่สุดถึง 51.6% ซึ่งช่วยให้เกษตรกรขายได้ราคาสูงขึ้น ขณะที่วิธีเดิมของเกษตรกรได้ผลผลิตลองกองเกรดซี 34.8%