กรมชลประทาน เดินหน้าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ หวังแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี สนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบภูเขียว ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ ความจุเก็บกัก 47 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือราษฎร อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบรูณ์ จ.ชัยภูมิ ให้มีน้ำทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า ร้อยละ 64 ของแผนฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2567 ตามแผนที่กำหนดไว้
หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนกว่า 5,145 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้เกษตรกรได้มีน้ำสำรองไว้ใช้เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนกว่า 40,000 ไร่ และในฤดูแล้งกว่า 8,000 ไร่ รวมทั้งจะมีน้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำชีและลำน้ำสาขาเพิ่มอีกประมาณปีละ 17 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแห่งใหม่ ช่วยเสริมสร้างอาชีพประมงให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ดังนี้
– แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 35,327 ล้าน ลบ.ม. (61%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 28,273 ล้าน ลบ.ม. (59%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,912 ล้าน ลบ.ม. (77%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,142 ล้าน ลบ.ม. (62%)
-พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,738 ล้าน ลบ.ม. (59%)
– ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
– อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 28,093 ล้าน ลบ.ม. (59%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 10,203 ล้าน ลบ.ม. (47%)
– พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,219 ล้าน ลบ.ม. (49%)
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศว่า ในช่วงวันที่ 16 – 17 ก.พ. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ในขณะที่ในช่วงวันที่ 16 – 19 ก.พ. 66 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นบริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียส
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 18 – 22 ก.พ. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 16 – 17 ก.พ. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 16 – 17 ก.พ. 66